วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การกัดกร่อนแบบกัลวานิก (Galvanic Corrosion)

การกัดกร่อนแบบกัลวานิกเป็นรูปแบบหนึ่งของการกัดกร่อนที่เกิดขึ้นเมื่อมีวัสดุที่ต่างกัน 2 ชนิด (เช่น เหล็กกล้าไร้สนิมและแมกนีเซียม) มาเชื่อมทางไฟฟ้าต่อกัน หรือสัมผัสกันทางกายภาพ หรือสัมผัสกับสารละลายที่นำไฟฟ้า เช่น อิเล็กโทรไลต์ เมื่อครบองค์ประกอบดังกล่าวจะเกิดการสร้างเซลล์ทางเคมีไฟฟ้า (electrochemical cell) ส่งผลให้วัสดุที่มีศักย์ทางไฟฟ้าต่ำกว่าจะแสดงตัวเป็นขั้วอาโนด (anode) มีอัตราการเกิดออกซิเดชันเพิ่มขึ้น ในขณะที่วัสดุที่มีศักย์ทางไฟฟ้าสูงกว่าซึ่งแสดงตัวเป็นขั้วคาโธด (cathode) จะมีความต้านทานการกัดกร่อนดังแสดงตัวอย่างในรูปที่ 1 ในขณะที่ตัวอย่างการกัดกร่อนแบบกัลวานิกที่เกิดขึ้นจริงแสดงในรูปที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสังเกตเห็นได้ในบริเวณที่วัสดุต่างชนิดกันสัมผัสกัน เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระแสไฟฟ้าและความแตกต่างของโลหะ จึงมีการเรียกการกัดกร่อนแบบนี้ว่า Galvanic Corrosion หรือ Two-metal Corrosion




รูปที่ 1 ลักษณะการกัดกร่อนแบบกัลวานิก


รูปที่ 2 ตัวอย่างการกัดกร่อนแบบกัลวานิกโดยการยึดติดแผ่นเหล็กกล้าไร้สนิมกับเหล็กกล้าคาร์บอน

มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดการกัดกร่อนแบบกัลวานิกรวมทั้งอัตราในการเกิด ได้แก่

ความต่างศักย์ทางไฟฟ้าของของโลหะแต่ละชนิด

จากอนุกรมกัลวานิก (ดูรูปที่ 3) จะเห็นว่าถ้าโลหะที่มาสัมผัสกันมีค่าศักย์ไฟฟ้าที่ต่างกันมาก (ห่างกันมาก) จะมีความรุนแรงของการกัดกร่อนมากตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ไทเทเนียม (Titanium) สัมผัสกับสังกะสี (Zinc) จะพบว่าสังกะสีถูกกัดกร่อนดังรูปที่ 4 และจะมีความรุนแรงมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างระบบที่มีไทเทเนียมสัมผัสกับทองแดง (Copper) เป็นต้น

รูปที่ 3 แผนภาพแสดงอนุกรมกัลวานิกโดยธาตุที่อยู่ด้านบนจะมีความเสถียร (กัดกร่อนได้ยาก) กว่าที่อยู่ด้านล่างของตาราง

รูปที่ 4 ระบบที่เชื่อมต่อทางไฟฟ้าระหว่างแพลตินัมกับสังกะสี

อิทธิพลของพื้นที่

ถ้าโลหะ 2 ชนิดที่สัมผัสมีสัดส่วนพื้นที่ที่เป็นคาโธด (เสถียรกว่า) มากกว่าแอโนด (กัดกร่อนง่ายกว่า) ยิ่งมากเท่าใด อัตราการกัดกร่อนจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้นยกตัวอย่างดังรูปที่ 5

รูปที่ 5 ลักษณะการกัดกร่อนที่มีอิทธิพลของสัดส่วนพื้นที่คาโธดและและอาโนดมาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างอิทธิพลของพื้นที่ เช่น ถังบรรจุที่นำแผ่นเหล็กกล้าคาร์บอนมาเชื่อมกับเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด AISI 304 เพื่อลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเหล็กกล้าไร้สนิมมีราคาแพงมาก แต่เนื่องจากวัสดุต่างกัน เจ้าของคาดว่าต้องเกิดการกัดกร่อนแบบกัลวานิกแน่นอนเมื่อนำไปใช้งาน เพราะต้องมีสารละลายแช่ขังภายใน เมื่อเชื่อมเสร็จเขาได้ทาสีเฉพาะส่วนที่เป็นเหล็กกล้า แต่เนื่องจากฝีมือในการทาสีบวกกับคุณภาพของสี ทำให้ได้ชั้นเคลือบที่มีรูพรุนขนาดเล็ก และเป็นที่ทราบกันดีว่าชั้นเคลือบทุกชนิดมักมีจุดบกพร่องในรูปของรุพรุนขนาดเล็กและการเสียหายทางกล เช่น มีรอยแตกร้าว มีรอยขีดข่วน เป็นต้น ดังนั้น การกัดกร่อนแบบกัลวานิกและการสลายตัวของขั้วอาโนดจึงได้เกิดขึ้นกับเหล็กกล้าคาร์บอนในบริเวณที่มีจุดบกพร่องของชั้นเคลือบ และการรั่วทะลุจะเกิดในอัตราเร็วมากจากอิทธิพลของสัดส่วนของผิวที่มีคาโธด (เหล็กกล้าไร้สนิม) ใหญ่แต่มีอาโนด (เหล็กกล้า) เล็กดังรูปที่ 6

รูปที่ 6 การกัดกร่อนของถังบรรจุสารละลาย

รูปร่างของระบบ (system geometry) และสิ่งแวดล้อมที่ระบบนั้นสัมผัสอยู่

ตัวอย่างอิทธิพลของค่าความนำไฟฟ้าของสารละลายที่มีต่อการกัดกร่อนแบบกัลวานิกแสดงในรูปที่ 7-8 จากรูปจะเห็นว่าถ้าสารละลายมีค่าความนำไฟฟ้าสูง การกัดกร่อนจะเกิดขึ้นกับโลหะที่เสถียรน้อยกว่าในบริเวณกว้าง
รูปที่ 7 การกัดกร่อนของระบบที่จุ่มแช่ในสารละลายมีความนำไฟฟ้าสูง

รูปที่ 8 การกัดกร่อนของระบบที่จุ่มแช่ในสารละลายที่มีความไฟฟ้าต่ำ

โดยส่วนใหญ่แล้ว การกัดกร่อนแบบกัลวานิกสามารถป้องกันได้ง่าย โดยการเลือกวัสดุที่เหมาะสมตั้งแต่ในระหว่างการออกแบบระบบ โดยพิจารณาจากค่าความต่างศักย์ของโลหะแต่ละชนิด นอกจากนี้ การป้องกันด้วยวิธีคาโธดิก (cathodic protection) การใช้ฉนวนกั้นระหว่างโลหะ 2 ชนิด (ดังรูปที่ 9) หรือการเคลือบสามารถป้องกันการกัดกร่อนแบบกัลวานิกได้ วิศวกรออกแบบจะต้องทราบถึงความเป็นไปได้ของการกัดกร่อนแบบกัลวานิกตั้งแต่การระบุรายละเอียดของวัสดุที่จะนำไปใช้ในเครื่องจักร บางครั้งอาจ ใช้วัสดุต่างชนิดกันมาเชื่อมกันโดยเฉพาะโละที่มีค่าความต่างศักย์กันมากเพื่อลดค่าใช้จ่ายควรระมัดระวังให้ดี ความต่างศักย์ที่เกิดจากเซลกัลวานิก (Galvanic Cell) สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา เนื่องจากผลิตภัณฑ์การกัดกร่อนที่สะสมอยู่ที่ขั้วคาโธดหรืออาโนดจะทำให้อัตราการกัดกร่อนลดลง

รูปที่ 9 การใช้ปะเก็นเพื่อไม่ให้สัมผัสกันโดยตรงของโลหะ 2 ชนิด

สำหรับการเคลือบนั้นอาจส่งที่รุนแรงมากกว่าการไม่เคลือบได้ โดยเฉพาะในกรณีการเคลือบด้วยวัสดุที่เสถียรกว่า เช่น การเคลือบดีบุกบนแผ่นเหล็กกล้าหรือวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น พอลิเมอร์ แลกเกอร์หรือการทาสี ถ้าผิวที่ผ่านการเคลือบมีจุดบกพร่อง เช่น มีรูพรุน มีรอยแตก (ทำให้สัดส่วนพื้นที่ระหว่างคาโธดคือสารเคลือบกับโลหะพื้นต่างกันมาก) การกัดกร่อนก็จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงกับระบบนั้นๆ ซึ่งการเคลือบดังกล่าวจะต่างจากการเคลือบด้วยโลหะที่เสถียรน้อยกว่า ยกตัวอย่าง เช่น การเคลือบสังกะสีบนเหล็กกล้า (galvanized steel) การกัดกร่อนบนโลหะพื้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสังกะสีหลุดหายไปหมดก่อน ซึ่งแสดงภาพประกอบในรูปที่ 10 หลักการดังกล่าวมักนำมาประยุกต์เป็นวัสดุกันกร่อนในโครงสร้าง เช่น การติดตั้งสังกะสีหรือะลูมิเนียมในโครงสร้างเรือหรือสะพานเหล็ก เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งคือการโฆษณาเกี่ยวการเคลือบแลกเกอร์รถยนต์ ลองนึกดูว่าถ้ารอยต่อ เช่น บริเวณนอตหรือซอกต่างๆ ภายใต้ท้องรถ ถ้าแลกเกอร์ซึมเข้าไม่ถึงจะเกิดอะไรขึ้น

รูปที่ 10 ตัวอย่างเคลือบด้วยวัสดุที่เสถียรกว่า (ซ้าย) และวัสดุที่เสถียรน้อยกว่า (ขวา)

การป้องกัน

วิธีการลดหรือป้องกันการกัดกร่อนแบบกัลวานิกมีหลายวิธีดังนี้
1. เลือกใช้วัสดุที่มีค่าตามอนุกรมกัลวานิกใกล้เคียงกันเท่าที่เป็นไปได้
2. หลีกเลี่ยงอัตราส่วนของพื้นที่คาโธด/อาโนด และปรับให้พื้นที่ทั้งสองมีขนาดใกล้เคียงกัน
3. ใช้ฉนวนกั้นในบริเวณที่ใช้โลหะต่างชนิดกันมาสัมผัสกัน
4. ใช้สารเคลือบผิวอย่างระมัดระวัง และดูแลการเคลือบผิวให้อยู่ในสภาพดี
5. เติมสารยับยั้งเพื่อลดความรุนแรงของการกัดกร่อน
6. ออกแบบเพื่อให้สามารถเปลี่ยนชิ้นงานที่เป็นอาโนดได้ง่าย
7. ติดตั้งวัสดุที่สามที่มีค่าความต่างศักย์น้อยกว่าโลหะทั้งสอง เพื่อให้เกิดการกัดกร่อนแทน ซึ่งโลหะที่มักใช้ คือ สังกะสี แมกนีเซียม และอะลูมิเนียม

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอิทธิพลที่เกิดจากต่อท่อเก่ากับท่อใหม่ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง
http://siamkaewkumsai.blogspot.com/2011/01/galvanic-corrosion-of-new-pipe-in.html

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ micro-galvanic corrosion ได้ที่
http://siamkaewkumsai.blogspot.com/2012/06/aisi-304-corrosion-failure-of-aisi-304.html

15 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 สิงหาคม 2553 เวลา 09:48

    สวัสดีครับ คุณสยาม
    พอดีผมทำงานกับแบตเตอรี่อยู่ครับ มีคำถามอยากขอความรู้ครับ
    เรื่องการกัดกร่อนของแบตเตอรี่ครับ
    - ทำไม่จึงเกิด Oxide ที่ขั้ว + ของแบตเตอรี่ครับ
    - ศักย์ที่พูดถึง หมายความถึง ศักย์ทางไฟฟ้าใช่ไหมครับ

    ขอบคุณครับ
    บรรจง หนึ้งวงค์

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ30 สิงหาคม 2553 เวลา 10:20

    Email ผมครับ

    bjnkmit@hotmail.com
    banjong.n@egat.co.th

    ขอบคุณครับ
    บรรจง หนึ้งวงค์

    ตอบลบ
  3. ผมให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการกัดกร่อนของแบตเตอรี่ตอบให้ทาง e-mail แล้วนะครับ เพราะว่าเขาศึกษาเรื่องนี้มาพอสมควร

    ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ2 กันยายน 2553 เวลา 08:57

    ขอบคุณครับ ถ้าใด้ e-mail แล้ว มีสงสัยจะขอสอบถามอีกนะครับ

    บรรจง

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ7 กันยายน 2553 เวลา 07:48

    สวัสดีครับ พี่สยาม ผมยังไม่ได้รับ e-mail เลยครับ ไม่รู้ว่าพี่เค้าส่งให้ผมหรือยังครับ รบกวนด้วยนะครับ

    ขอบคุณครับ
    บรรจง

    ตอบลบ
  6. น้องเขาตอบให้แล้วนะครับ ผมขออนุญาติเอามาลงไว้ที่นี่ ดังนี้
    .............................................
    เรียนคุณบรรจง

    ต้องขออภัยด้วยครับที่ตอบช้า เนื่องจากผมออกไปปฏิบัติงานอยู่ต่างจังหวัด และเพิ่งจะกลับเข้าที่ทำงานในวันนี้

    1)สำหรับการกัดกร่อนหรือการเกิดออกไซด์ในขั้วของแบตเตอรรี่นั้นสามารถเกิดได้ทั้ง 2 ขั้วครับ โดยเฉพาะในแบตเตอรี่ชนิดที่ต้องเติมน้ำกลั่น เนื่องจากแบตเตอรี่มีช่องทางสำหรับระบายแก๊สไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการชาร์ท โดยในระหว่างระบายแก๊สไฮโดรเจนออกจากแบตเตอรี่ จะมีการนำไอของกรดซัลฟิวริกที่ใช้เป็นอิเล็กโทรไลท์ออกมาด้วย ชิ้นส่วนโลหะที่อยู่ภายนอกแบตเตอรี่ (เช่น ขั้่วแบตเตอรี่ หรือ สายไฟ) จึงมีโอกาสเกิดการกัดกร่อนและเกิดเป็นคราบออกไซด์หรือคราบเกลือเกิดขึ้น

    ในกรณีที่เกิดการกัดกร่อนที่บริเวณขั้วบวกมากกว่าขั้วลบ อาจเป็นผลจาก กลไกในการป้องกันการกัดกร่อนของแบตเตอรี่ในแต่ละขั้วที่แตกต่างกัน โดย

    การป้องการกัดกร่อนของขั้วลบ - เกิดจากกระบวนป้องกันการกัดกร่อนคาโทดิก (Cathodic protection) การป้องกันในส่วนนี้เกิดจากการที่มีอิเล็กตรอนจากภายนอก (เช่น อิเล็กตรอนจากการชาร์ท) เข้ามาชดเชย อิเล็กตรอนที่โลหะสูญเสียในระหว่างการใช้งาน ทำให้ โอกาสที่โลหะจะอยู่ในสภาพอิออน หรือ รวมตัวกับธาตุอื่นๆ เกิดสารประกอบ และทำให้เกิดการสูญเสียเนื้อโลหะ จึงเป็นไปได้ยาก

    การป้องกันการกัดกร่อนของขั้วบวก - เกิดการกระบวนการป้องกันการกัดกร่อนแบบ (Anodic Protection) โดยการป้องกันการกัดกร่อนแบบนี้เกิดขึ้นจาก การที่โลหะมีศักย์ไฟฟ้าอยู่ในช่วง Passive และเกิดฟอร์มฟิล์มออกไซด์ที่มีสเถียรภาพสูงขึ้นบริเวณผิวหน้า ในแบตเตอรี่คือ PbO2 โดยในการเกิดออกไซด์ดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยอิเล็กโทรไลท์และปริมาณออกซิเจนที่มากพอ ทำให้บริเวณขั้วบวกของแบตตเอรี่ที่ไม่สัมผัสกรดโดยตรงจึงยากที่จะเกิดการสร้างฟิล์มออกไซด์ดังกล่าว บริเวณขั้วบวกของแบตเตอรี่จึงไวต่อการเกิดการกัดกร่อนมากกว่าขั้วลบ

    2)ความต่างศักย์ที่เกิดขึ้นเป็นความต่างศักย์ทางไฟฟ้าระหว่างโลหะสองชนิดที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันครับ สามารถทดลองวัดได้โดย จุ่มโลหะสองชนิดลงในอิเล็กโทรไลท์เดียวกันและต่อเข้ากับโวล์ตมิตเตอร์

    Mr. Kosit Wongpinkaew
    (Asistance Researcher)
    ----------------------------------------------------------
    Failure Analysis and Materials Corrosion Lab. (FAMC)
    National Metal and Materials Technology Center (MTEC)
    National Science and Technology Development Agency (NSTDA)
    114 Thailand Science Park, Phahonyothin Rd.,
    Klong 1, Klong Luang, Pathumthani 12120 Thailand.
    Tel: +66 2564 6500 Ext. 4117/4739
    Fax: +66 2564 6332
    E-mail: kositw@mtec.or.th

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ9 กันยายน 2553 เวลา 11:42

    ขอบคุณครับ
    บรรจง

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ28 ตุลาคม 2553 เวลา 21:09

    สุดยอก ครับ
    ขอบคุณมากครับ สำหรับ ความรู้

    ตอบลบ
  9. ไม่ระบุชื่อ7 กรกฎาคม 2554 เวลา 16:04

    สวัสดีครับ คุณสยาม
    พอดีผมทำงานเกี่ยวกับด้าน Pressure vessel และ storage tank
    ผมอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อนุกรมกัลวานิค
    เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบถัง เพื่อให้ทนต่อการกัดกร่อนในสภาวะและสารที่ใช้งานนะครับ

    พอจะมี reference หรือ source ต่างๆ ที่ผมพอจะหาข้อมูลได้ไหมครับ

    รบกวนตอบทางอีเมลล์นะครับ khunsirin@gmail.com

    ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมากครับ

    ตอบลบ
  10. สวัสดีค่ะ พอดีอยากทราบว่าการที่ตัวหนีบกระดาษ หรือคลิปหนีบกระดาษเป็นสนิมนั้น ใช่เป็นการกัดกร่อนแบบกัลวานิกรึเปล่าคะ

    ตอบลบ
  11. คลิปหนีบกระดาษมักเกิดสนิมบริเวณสีเคลือบลอก ทำให้โลหะ 2 ชนิดสัมผัสกันโดยตรง เมื่อสัมผัสกับความชื้นจึงเกิดสนิม

    ตอบลบ
  12. อยากทราบว่า ทองคำ กับ เงิน และทองคำ กับ สแตนเลส สตีล จะเกิดปฏิกิริยากันหรือไม่ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ถ้าครบองค์ประกอบเกิดปฏิกริยาครับ คือโลหะทั้ง 2 สัมผัสกันและมีความชื้น โดยทั้ง 2 กรณี ทองคำจะเสถียรกว่า ทำให้โลหะที่เหลือเกิดการกัดกร่อนหรือเกิดคราบ

      ลบ
  13. ผมอยากทราบว่า บทความนี้สามารถคัดลอกได้ไหมครับ พอดีผมจะนำไปเป็นข้อมูลวิจัยน่ะครัย แต่หน้าเว็บทำไม่ได้ผมจึงอยากทราบว่าพอจะมีไฟล์เรื่อง การกัดกร่อนแบบกัลวานิก(Galvanic Corrosion) , การกัดกร่อนในที่อับ(Crevice Corrosion) และ การกัดกร่อนร่วมกับความเค้น ( Stress Corrosion ) ถ้าได้ผมจะข้อทาง e-mail ได้ไหมครับ

    ตอบลบ
  14. ผมจะเอาก้อนแร่กันกร่อนที่ใช้กับเรือเหล็ก ไปติดกับรถยนต์เพื่อลดการเกิดสนิมได้มั้ยครับ

    ตอบลบ

การกัดกร่อนกับท่อทองแดงแบบรังมด (Ant-nest corrosion)

วันนี้มีเคสจากหน่วยงานขนส่งมวลแห่งหนึ่งแจ้งว่าท่อทองแดงในระบบเครื่องปรับอากาศเกิดการกัดกร่อนแล้วนำมาสู่การรั่วมาปรึกษา ผมจำได้ว่าเคยวิเคราะห...