วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กรณีตัวอย่าง: การเสียหายของท่อ AISI 304 (corrosion failure of AISI 304 pipe)

รูปที่ 1 ท่อเหล็กกล้าไร้สนิม AISI 304 ที่เกิดความเสียหาย

            หลายท่านอาจเคยสงสัยว่า เพราะเหตุใดชิ้นส่วนที่ผ่านการเชื่อมจึงมักเกิดความเสียหายในบริเวณแนวเชื่อมมากกว่าบริเวณอื่น ในกรณีตัวอย่างนี้อาจทำให้ท่านหายสงสัยได้บ้างไม่มากก็น้อย

ชิ้นส่วนท่อเหล้กกล้าไร้สนิม AISI 304 (รูปที่ 1)  เกิดการกัดกร่อนและรั่วหลังจากผ่านการใช้งานได้ประมาณ 6 เดือน ซึ่งเร็วเกินไปใช่ไหมครับ ซึ่งกรณีตัวอย่างนี้จะเสนอแง่มุมบางส่วน กล่าวคือจะเน้นการกัดกร่อนในรูปแบบจุลภาค ท่อดังกล่าวผ่านการเชื่อม TIG  ใช้ในการลำเลียงน้ำสะอาด เป็นที่ทราบกันดีว่ากระบวนการเชื่อม TIG ที่มีการหลอมเพียงโละพื้น (Autogenous Welding Process) โดยไม่มีการเติมลวดเชื่อม (No Filler Metal) นั้น มักส่งผลให้โครงสร้างในแนวหลอมละลายมีลักษณะคล้ายกับโครงสร้างที่ได้จากการหล่อ (Cast Structure) คือ มีโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นเดนไดร์ของเดลต้าเฟอร์ไรต์ที่มีโครเมียมสูง (Chromium-rich Delta Ferrite) ประมาณ 2-10% ฟอร์มตัวอยู่ในโครงสร้างพื้นแบบออสเตนนิติกที่มีนิกเกิลสูง (Ni-rich Cored Austenite)  ดังรูปที่ 2 โครงสร้างลักษณะดังกล่าวเกิดจากการเย็นตัวอย่างรวดเร็วในระหว่างการเชื่อม เนื่องจากในระหว่างการเย็นตัวจะเกิดการฟอร์มตัวของโครงสร้างเดลต้าเฟอร์ไรต์ปฐมภูมิเป็นของแข็ง (Primary Delta Ferrite Solidify) ในแนวหลอมละลาย จากนั้นโครงสร้างเดลต้าเฟอร์ไรต์จะเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็นออสเตนไนต์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ถูกควบคุมโดยการแพร่ (Diffusion-controlled Process) ดังนั้น เมื่อมีการเย็นตัวอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้การเปลี่ยนเฟสจากเดลต้าเฟอร์ไรต์ไปเป็นออสเตนไนต์เกิดขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ ถ้าเดลต้าเฟอร์ไรต์ที่เกิดขึ้นประมาณ 3-8% จะสามารถลดการแตกร้อนในระหว่างการเย็นตัวของแนวเชื่อมได้ แต่ถ้ามีปริมาณมากกว่า 10% จะลดสมบัติทางกล นอกจากนี้ยังจะไวต่อการกัดกร่อนอีกด้วย
รูปที่ 2 โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นเดนไดร์ของเดลต้าเฟอร์ไรต์ที่มีโครเมียมสูงฟอร์มตัวอยู่ในโครงสร้างพื้นแบบออสเตนนิติกที่มีนิกเกิลสูง

การเกิดโครงสร้างเดลต้าเฟอร์ไรต์ในแนวเชื่อมสามารถส่งเสริมให้บริเวณแนวหลอมละลายเกิดการกัดกร่อนแบบทั่วผิวหน้า ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากความแตกต่างของโครงสร้างจุลภาค (Micro-galvanic Effect) ระหว่าง inter-dendritic Cr-rich delta ferrite กับ cored Ni-rich austenite กล่าวคือ โครงสร้างเดลต้าเฟอร์ไรต์ซึ่งมีโครเมียมสูงทำให้โครงสร้างออสเตนนิติกที่อยู่ใกล้เคียงมีโครเมียมลดลง (Cr-depleted Zone) นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวมักมีการแยกตัวตกตะกอนแบบจุลภาค (Micro-segregation) ของ impurity และ alloying elements ซึ่งการกัดกร่อนแบบทั่วผิวหน้าในบริเวณดังกล่าวนี้ จะส่งเสริมให้เกิดเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายตัวของรูเข็มให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้เป็นอย่างดี  ถ้าสารละลายมีการเจือปนอิออนของธาตุหมู่ 7 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอไรด์  ดังจะเห็นได้จากรูปที่ 3 ซึ่งพบการกัดกร่อนในรอยต่อระหว่างโครงสร้างจุลภาคทั้งสองคล้ายการกัดกร่อนตามขอบเกรน บางครั้งอาจเรียกว่า การกัดกร่อนแบบเลือกละลายเฉพาะเฟสเดลต้าเฟอร์ไรต์ (Selective Dissolution of Delta Ferrite) ดังภาพขยายในรูปที่ 4
รูปที่ 3 การกัดกร่อนแบบทั่วผิวหน้า ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากความแตกต่างของโครงสร้างจุลภาค (Micro-galvanic Effect) ระหว่าง inter-dendritic Cr-rich delta ferrite กับ cored Ni-rich austenite

รูปที่ 4 การกัดกร่อนแบบเลือกละลายเฉพาะเฟสเดลต้าเฟอร์ไรต์ (Selective Dissolution of Delta Ferrite)

จากการตรวจสอบโครงสร้างจุลภาคพบการกัดกร่อนที่เกิดขึ้นในบริเวณรอยต่อระหว่างโลหะพื้นและแนวหลอมละลายรุนแรงมากกว่าบริเวณอื่นนั้น ลักษณะดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่า ความต้านทานการกัดกร่อนของโลหะพื้น ซึ่งมีโครงสร้างจุลภาคแบบเฟสเดียว คือ ออสเตนไนต์ มีความต้านทานการกัดกร่อนสูงกว่าบริเวณเนื้อโลหะที่ผ่านการเชื่อม ซึ่งมีโครงสร้างแบบ 2 เฟส และเป็นที่ทราบกันดีว่า การเชื่อมมักส่งผลให้วัสดุมีสมบัติที่แย่ลงทั้งสมบัติทางกลและการกัดกร่อน และถ้าพิจารณาในระดับมหภาคของท่อบริเวณแนวเชื่อมเมื่อสัมผัสกับอิเล็กโตรไลต์แล้ว แนวเชื่อมจะแสดงตัวเป็นแอโนด (จ่ายอิเล็กตรอน) ในขณะที่วัสดุพื้นจะแสดงตัวเป็นคาโธด (รับอิเล็กตรอน) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องความแตกต่างของพื้นที่ (Area Effect) กล่าวคือ พื้นที่แอโนดมีขนาดเล็กแต่มีพื้นที่คาโธดใหญ่ ก็ยิ่งจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการกัดกร่อนแบบเฉพาะจุดให้เร็วยิ่งขึ้น และจากการตรวจสอบแนวหลอมละลายที่กำลังขยายสูงด้วย SEM พบการขยายตัวคล้ายกับการกัดกร่อนตามขอบเกรนดังแสดงในรูปที่ 5 สำหรับความไวต่อการกัดกร่อนแบบทั่วผิวหน้าบริเวณ fusion zone สามารถลดได้โดยการ annealing หลังการ welding ด้วยวิธีการที่เหมาะสม
รูปที่ 5 ภาพถ่าย SEM แสดงการกัดกร่อนตามขอบเกรนแบบ Selective Dissolution of Delta Ferrite

สมมุติว่าท่อถูใช้งานภายใต้สภาวะสิ่งแวดล้อมแบบเปียกที่มีคลอไรด์อิออนเจือปน (Chloride Containing Wet Environment) ฟิล์มป้องกันการกัดกร่อนของเหล็กกล้าไร้สนิมออสเตนนิติกอาจถูกทำลายในบริเวณที่เป็นจุดอ่อน เช่น สารฝังใน ขอบเกรนคู่แฝด (Twin Boundary) เฟสที่ตกตะกอน รอยต่อระหว่างโครงสร้างที่ต่างกัน และฟิล์มไม่สามารถซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ได้ ทำให้คลอไรด์ไอออนสามารถแพร่เข้าตามจุดบกพร่องดังกล่าว และเกิดการฟอร์มเป็นรูเข็ม (Formation of Pit) โดยทำปฏิกิริยาเคมีกับอะตอมของโลหะและฟอร์มตัวเป็นโลหะคลอไรด์ จากนั้น โลหะคลอไรด์จะเกิดการแยกตัวเป็นไฮดรอกไซด์ของโลหะและกรดไฮโดรคลอริกด้วยกระบวนการไฮโดรไลซิส และกระบวนการดังกล่าวจะส่งผลให้ภายในโพรงมีค่า pH ลดลง และการสลายตัวของโลหะหรือการขยายตัวของรูเข็มจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ในที่สุดก็เกิดการรั่วทะลุที่มีลักษณะดังรูปที่ 6

รูปที่ 6 โครงสร้างจุลภาคตามแนวยาวท่อแสดงการขยายตัวของของ pitting corrosion

เป็นที่ทราบกันดีว่า การเชื่อมเหล็กกล้าไร้สนิมจะเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโลหะวิทยาและมีความเค้นตกค้างเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของฟิล์มป้องกันที่มีสมบัติเป็นสารกึ่งตัวนำโดยเกิดการแตกร้าว และมีความไวต่อการกัดกร่อนแบบเฉพาะที่ได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับสารละลายที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ซึ่งการแตกร้าวของฟิล์มป้องกันจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มความไวต่อการกัดกร่อนเฉพาะที่ เช่น การกัดกร่อนแบบรูเข็ม และการแตกร้าวเนื่องจากความเค้นร่วมกับการกัดกร่อน อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้โดยการผ่านกระบวนการทางความร้อนที่เหมาะสมหลังการเชื่อมรวมทั้งการทำความสะอาดผิวหน้าอย่างระมัดระวัง

เอกสารอ้างอิง
[1] E. Mohammadi Zahrani et al. pitting of 316L stainless steel in flare piping of a petrochemical plant. Eng Fail Anal 2009, In Press, Corrected Proof, Available online 15 October 2009.
[2] B.T. Lu et al. pitting and stress corrosion cracking behavior in welded austenitic stainless steel. Electrochimica Acta 2005; 50(6): pp. 1391-403.
[3] C. Garcia et al. Pitting corrosion of welded joints of austenitic stainless steels studied by using an electrochemical minicell. Corrosion Science 2008; 50(4): pp. 1184-94.
[4] Lin Cui et al. Pitting and galvanic corrosion behavior of stainless steel with weld in wet-dry environment containing CI. Journal of University of Science and Technology Beijing 2007; 14(6): pp. 517-22.
[5] B.T. Timofeev et al. Corrosion and mechanical strength of welded joints of downcomers for RBMK reactors, Int. J. Pres. Ves. Pip 1999; 76(5): pp. 299–307.
[6] Kou S. Welding metallurgy. 2nd ed. John Wiley & Sons; 2003.
[7] M. Suresh Kumar et al.  Failure analysis of a stainless steel pipeline. Eng Fail Anal 2008; 15(5): pp. 497-504.
[8] Fontana MG. Corrosion engineering. 3rd ed. New York: McGraw-Hill; 1986.
[9] Wei Wu et al. Corrosion failure analysis of stainless steel components for maleic anhydride plant. Eng Fail Anal 2009, In Press, Corrected Proof, Available online 10 November 2009.
[10] Sedek P et al. Pitting corrosion of the stainless steel ventilation duct in a roofed swimming pool. Eng Fail Anal 2008; 15(4): pp. 281–6.
[11] Khedra AA et al. The influence of chloride ions in sulphuric acid on the corrosion behaviour of stainless steel. Surf Technol 1984; 23(2):pp. 151–8.
[12] Annual book of ASTM standard practice for seamless and welded austenitic stainless steel pipes, A312/A 312M-0, vol. 01.01.; 2009.

6 ความคิดเห็น:

  1. Thank you for sharing such a nice article and looking forward to more articles in the future.
    You can also visit: Stainless Steel Seamless Pipes Manufacturers in India

    ตอบลบ
  2. Nice blog, by the way. Thanks for sharing this information. In the long term, I would like to see more blogs. You can also visit:
    Pipes and Tubes Manufacturer

    ตอบลบ
  3. Thanks for posting this informative article for us. We expect some more relevant posts from you in the coming future. Keep updating. You can also visit: Incoloy 800, 800H, 800HT Fasteners Manufacturer

    ตอบลบ
  4. Hey, I really enjoyed reading your article. On your behalf, I look forward to reading more interesting articles.
    Check out our Round Bars Manufacturer in India product. Petromet Flange Inc is regarded as one of India's most reliable Round Bars Manufacturers.

    ตอบลบ
  5. Found your post interesting to read. I can't wait to see your post soon. Good Luck for the upcoming update. You might Like Kindly check into this, Bright Steel Centre is one of the Largest Carbon Steel Pipes Manufacturer in India. We have been an important part of the growth and also development of the Indian market as well as quality exports.

    ตอบลบ

การล้างผิวเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยกรด (Pickling) และการสร้างฟิล์ม (Passivation)

Image credit: https://www.safefoodfactory.com/en/editorials/54-pickling-and-passivating-stainless-steel/ เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดการกัดกร่...