วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ความแตกต่างระหว่างการแตกร้าวล้า (จากการกัดกร่อนและความร้อน)

ในมุมมองของวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มีปรากฏการณ์สำคัญสองประการที่อาจส่งผลต่อความแข็งแรงทางโครงสร้างของชิ้นส่วน ได้แก่ การแตกร้าวจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อน (Corrosion Fatigue Cracking) และการแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากความร้อน (Thermal Fatigue Cracking) มีหลายคนที่อาจไม่แยกแยะความแตกต่างระหว่างความเสียหายของทั้งสองกลไก แม้ว่าจะมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกันบ้าง ดังนั้นการเรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจ แยกแยะความแตกต่างที่สำคัญเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ การป้องกัน และการบรรเทาผลกระทบที่มีประสิทธิผล เรามาลองศึกษาความเสียหายทั้งสองรูปแบบนี้และคุณลักษณะที่แตกต่างของมันกันดูนะครับ
https://si-materialslab.com/product/corrosion-fatigue/ 

การแตกร้าวจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อน (Corrosion Fatigue Cracking) เกิดขึ้นครั้งแรกในสายเคเบิลลากจูงพาราเวนของกองทัพเรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวัสดุอยู่ภายใต้สภาวะการรับแรบแบบคาบหรือรอบในขณะเดียวกันก็สัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เป็นกระบวนการเสริมกันทั้งจากแรงทางกลแบบคาบและทางเคมีจากการกัดกร่อน นำไปสู่การเริ่มต้นและการขยายตัวของรอยแตกร้าว การสัมผัสกับสารละลายที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เช่น ความชื้นหรือสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน จะทำให้ชั้นฟิล์มออกไซด์ที่ทำหน้าที่ป้องกันการกัดกร่อนของวัสดุอ่อนแอลง จนทำให้ไวต่อการกัดกร่อนมากขึ้น ทำให้เกิดการกัดกร่อนเฉพาะที่ (Localized Corrosion) ซึ่งจากนั้นจะแสดงตัวเป็นจุดเริ่มต้นของรอยแตกร้าว ยิ่งเมื่อมีการรับภาระโหลดแบบคาบหรือรอบ รอยแตกร้าวจะขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งในที่สุดนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ เพราะเราคงทราบกันดีว่า 

“การล้า (Fatigue) หมายถึง การที่ชิ้นงานรับแรงซ้ำไปซ้ำมาหรือเป็นคาบ (Cyclic Load) เช่น ดัดไป-ดัดมา ดึงปล่อย-ดึงปล่อย หมุนไป-หมุนมา บิดไป-บิดมา หรือแรงดันเพิ่มขึ้น-ลดลงไปมา เป็นต้น ส่งผลให้เกิดรอยร้าวขึ้น รอยร้าวที่เกิดจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ภายในชิ้นงาน จนในที่สุดชิ้นงานจะเหลือพื้นที่ในการรับแรงเพียงเล็กน้อย และเกิดการแตกหักทันทีทันใดเมื่อได้รับความเค้นเพียงเล็กน้อย แรงที่ว่านี้เมื่อนำมาคำนวณต่อพื้นที่ (Stress) จะพบว่ามีค่าต่ำกว่าค่าความเค้นที่ใช้ในการออกแบบ เช่น ค่าความเค้นที่จุดคราก (Yield Stress)” 

ในทางกลับกัน การแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากความร้อน (Thermal Fatigue Cracking) เกิดขึ้นจากวัฏจักรการให้ความร้อนและการเย็นตัว หรืออุณหภูมิขึ้นลงไม่คงที่ซ้ำ ๆ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อชิ้นส่วนสัมผัสกับช่วงอุณหภูมิที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จนนำไปสู่การขยายตัวและการหดตัวที่แตกต่างกัน การได้รับความร้อนเป็นวัฏจักรนี้ทำให้เกิดความเค้นเฉพาะที่ (Localized Stress) ทำให้เกิดรอยแตกร้าวและขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป และการล้าเนื่องจากความร้อนอาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีภาระทางกล 

การแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากความร้อนแตกต่างจากการแตกร้าวจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อน คือไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ความล้าจากความร้อนเป็นผลมาจากความเค้นแบบคาบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเสียหายอยู่ในรูปแบบของการแตกร้าวที่อาจเกิดขึ้นที่ใดที่หหนึ่งบนชิ้นส่วนโลหะ โดยค่อนข้างถูกจำกัดในเรื่องการเคลื่อนที่หรือการขยายตัวที่แตกต่างกันในระหว่างการได้รับความร้อนเป็นวัฏจักรซ้ำ ๆ 

รอยแตกที่เกิดขึ้นจากการล้าเนื่องจากความร้อนมักเป็นแบบผ่าเกรนหรือตามขอบเกรน (Transgranular or Intergranular pattern) ตามโครงสร้างผลึกของวัสดุ 

ความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งระหว่างการแตกร้าวทั้งสองประเภทนี้คือปัจจัยขับเคลื่อนหลัก การแตกร้าวจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อนได้รับอิทธิพลร่วมกันจากความเค้นเชิงกลและการกัดกร่อน ในขณะที่การแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากความร้อนส่วนใหญ่มีสาเหตุจากความผันผวนของอุณหภูมิและผลจากความเค้นจากความร้อน (Thermal stress) ดังนั้นถ้าเข้าใจกลไกที่อยู่เบื้องหลังของแต่ละรูปแบบการแตกร้าวจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและการป้องกันที่เหมาะสม 
ภาคตัดขวางแสดงรอยแตกจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อนของลวดเหล็กกล้าไร้สนิม

ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดรูปแบบการเสียหายเหล่านี้ การแตกร้าวจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อนจำเป็นต้องมีตัวกลางที่มีฤทธิ์กัดกร่อน (Corrosive medium) เช่น ความชื้นหรือสารเคมี ซึ่งจะช่วยเร่งกระบวนการกัดกร่อนและแสดงตัวเป็นจุดเริ่มต้นการแตกร้าว ในทางตรงกันข้าม การแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากความร้อนสามารถเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย เนื่องจากมีสาเหตุหลักมาจากความผันผวนของอุณหภูมิมากกว่าสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน 

ลักษณะที่ปรากฏและลักษณะเฉพาะของรอยแตกที่เกิดขึ้นระหว่างการแตกร้าวจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อนและการแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากความร้อนก็มีความแตกต่างกันเช่นกัน โดยรอยแตกการแตกร้าวจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อนมักแสดงรูปแบบที่เป็นเส้นเดี่ยวหรืออาจมีแตกแขนงและไม่สม่ำเสมอ พื้นผิวของหน้าที่แตกหักอาจมีพื้นผิวที่หยาบกว่าเนื่องจากการกัดกร่อน ในทางตรงกันข้าม การแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากความร้อนมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะตรงและสม่ำเสมอมากกว่า ซึ่งมักขยายตัวไปตามระนาบผลึกของวัสดุ และภายในรอยร้าวมักถูกปิดบังด้วยออกไซด์ 

ภาคตัดขวางแสดงรอยแตกล้าเนื่องจากความร้อน เครดิตภาพจาก: https://www.mee-inc.com/case-studies-list/thermal-fatigue/

สุดท้ายนี้ แนวทางในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการแตกร้าวทั้งสองประเภทนี้ก็แตกต่างกันไป เพื่อลดการแตกร้าวจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคุมทั้งสภาวะการรับแรงทางกลและสภาพแวดล้อมที่มีฤทธิ์กัดกร่อน แนวทางอาจรวมถึงการการเลือกวัสดุใหม่ การใช้การเคลือบป้องกัน การควบคุมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และการบำรุงรักษาที่เหมาะสม ใขณะที่การป้องกันการแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากความร้อนจำเป็นต้องควบคุมหรือลดความแตกต่างของอุณหภูมิ เพิ่มประสิทธิภาพฉนวนกันความร้อน และใช้เทคนิคการออกแบบที่ลดการสัมผัสกับความร้อนโดยตรงและมีการกระจายอุณหภูมิที่สม่ำเสมอ

ตารางด้านล่างสรุปภาพรวมอย่างย่อของลักษณะความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการแตกร้าวจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อนและการแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากความร้อน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องรับรู้ว่าปรากฏการณ์เหล่านี้อาจมีแง่มุมและข้อพิจารณาที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุ เงื่อนไขการใช้งาน และการประยุกต์ใช้งาน 

ปัจจัย

การแตกร้าวจากการล้าร่วมกับการกัดกร่อน

การแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากความร้อน

แรงขับเคลื่อนสำคัญ

ความเค้นทางกล + การกัดกร่อน

การแกว่งของอุณหูมิ + ความเค้นเนื่องจากความร้อน

การมีสภาวะที่มีฤทธิ์กัดกร่อน

ต้องการ

ไม่จำเป็น

ลักษณะของรอยร้าว

ตามขอบเกรน หรือมี beach mark

ผ่าเกรน หรือ ตามขอบเกรน

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

ความชื้น สารเคมี

ความแตกต่างของอุณหภูมิ

ลักษณะเฉพาะของรอยร้าว

หยาบ ขรุขระ แตกเดี่ยวหรือแตกแขนง

ตรง และสม่ำเสมอ

แนวทางในการป้องกัน

การเลือกวัสดุใหม่ การเคลือบ การควบคุมสิ่งแวดล้อม

ควบคุมอุณหภูมิ ใช้ฉนวน ออกแบบเพื่อให้เกิดการกระจายตัวของอุณหภูมิ


การล้างผิวเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยกรด (Pickling) และการสร้างฟิล์ม (Passivation)

Image credit: https://www.safefoodfactory.com/en/editorials/54-pickling-and-passivating-stainless-steel/ เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดการกัดกร่...