วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การทำงาน คือ การปฎิบัติธรรม (The work as meditation)

เนื่องจากงานที่ผมทำอยู่ในปัจจุบันนี้ คือนักวิเคราะห์ความเสียหาย (Failure Analyst) ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนที่แตกหักเสียหาย หรือเกิดการเสื่อมสภาพจากการกัดกร่อน อันเป็นสภาพสุดท้ายของชิ้นส่วนแล้ว กล่าวคือ เบื้องต้นก็มีการผลิตชิ้นส่วนขึ้นมาใช้งาน เมื่อเวลาผ่านไปก็มีการเสื่อมสภาพ ในที่สุดก็เกิดการแตกหักหรือเสียหาย จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ถ้าอยู่ในสภาพที่มีฤทธิ์กัดกร่อนและวัสดุมีจุดบกพร่องรวมทั้งแรงที่กระทำสูงเกินไป ก็อาจมีอายุการใช้งานสั้น ในทางกลับกัน ถ้าใช้งานในสิ่งแวดที่ไม่รุนแรง วัสดุมีจุดบกพร่องจากการผลิตหรือติดตั้งน้อยและแรงที่มากระทำไม่สูงกว่าค่าวิกฤติ ชิ้นส่วนเหล่านั้นก็มักจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน การเสื่อมสภาพของโลหะก็กลับไปสู่สภาพดังเดิม คือเป็นสินแร่ จากนั้นก็นำมาถลุง ผลิตเป็นชิ้นส่วนเพื่อใช้งาน จนกระทั่งถูกกัดกร่อน แตกหักเสียหายก็กลับไปเป็นสินแร่ วนเวียนอยู่อย่างนี้

พอมาเปรียบเทียบกับมนุษย์เรา มันก็ไม่ต่างกันกับความเสียหายของวัสดุ เนื่องจากสรรพสิ่งทั้งหลายตกอยู่ภายใต้กฏเดียวกัน คือ กฏไตรลักษณ์ นั่นคือ เมื่อมีเกิดขึ้น ก็มีตั้งอยู่ และย่อมดับไป มนุษย์ท่านใดที่ใช้ชีวิตอย่างประมาท เช่นละเมิดศีล 5 ชีวิตก็อาจจะสั้น เป็นต้น ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน คือ ถ้าท่านกินเหล้าหรือสูบบุหรี่ ก็เหมือนกับชิ้นส่วนที่ถูกสัมผัสกับสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ไม่นานก็เสื่อมสภาพและแตกหักหรือตายไปในสุด

เมื่อเราเห็นดังนี้แล้วก็ควรจะน้อมเข้ามาใส่ตัว คือ พิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องแตกดับ ไม่หลีกพ้นไปได้ แต่ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ควรจะศึกษาและปฏิบัติธรรมให้มากๆ จะได้ไม่เสียชาติเกิด เพราะการได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนจะยากยิ่ง

ดังนั้นในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน ผมสามารถยืนยันได้เลยว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็สามารถนำมาพิจารณาเป็นข้อธรรมได้ทั้งนั้น อย่าปล่อยให้เสียโอกาสนะครับ

มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนตัดได้ยากมาก คือ การตัดกาย หรือ สักกายทิฎฐิ ซึ่ง เป็นการถือตัว ถือตน จนนำมาสู่ให้เกิดกามราคะ วันนี้ผมจึงมีกลอนที่ใช้เตือนสติสำหรับผู้ที่หลงในความสวย ความงาม เราลองมาพิจารณาให้เป็นธรรม บางท่านอาจจะพิจารณาเป็นอสุภะก็ได้

นารีจะดูงาม..............ก็เมื่อยามที่ยังเยาว์

แก่แล้วก็เหี่ยวเฉา.......บ่มีส่วนจะพึงชม

ดุจปวงบุปผชาติ.........งาม​วิลาศน่าเด็ดดม

แรกบานก็งามสม.........แต่บ่นานก็โรยรา




















  หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านสอนเรื่อง การทำงานเพื่องาน การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม ไว้ดังนี้

งานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต งานทำให้ชีวิตอยู่รอดและมีคุณค่า ถ้าปราศจากงานเราจะมีปัญหา
ทั้งกายและใจ แต่คนไม่น้อยที่ไม่ชอบงานและไม่รู้จักทำงานอย่างถูกต้อง คอยหลบเลี่ยงงาน หรือทำด้วยความเบื่อหน่าย จึงไม่ได้รับความสุขที่แท้จริงในชีวิต เพราะความสุขแท้มีแต่ในงาน และการทำงานก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งควรสนใจทำให้ถูกต้อง

          การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม การทำงานที่เป็นการปฏิบัติธรรมนั้น ต้องเป็นงานที่เป็นสัมมาชีพ คือ เป็นงานประเภทที่ไม่เดือดร้อนแก่ใคร ไม่เป็นปัญหา ไม่สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในสังคม ไม่ทำลายสังคมให้พิกลพิการด้วยงานที่เราทำขึ้นมา อย่างนั้น เรียกว่าเป็นงานชอบ
ผู้ที่ทำงานชอบอย่างนั้นก็เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องทำงานอันเป็นหน้าที่ ที่ถูกต้อง คือ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่เป็นเหตุทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในสังคมนั้นๆ จึงชื่อว่างานนั้นเป็นงานที่ถูกต้อง
          ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องทำงานด้วยสำนึกว่าเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำ แล้วก็ทำไปตามหน้าที่ ไม่ได้ทำเพื่ออะไรๆ ไม่หวังอามิส ไม่หวังอะไรทั้งนั้น สิ่งใดที่ได้มา ก็ได้มาตามเรื่องของงาน ไม่ได้ดีใจ ไม่ได้เสียใจ เมื่อไม่ได้ ได้มาก ก็ไม่ดีใจ ได้น้อย ก็ไม่เสียใจ ได้ช้าไป ก็ไม่เสียใจ ได้เร็วไป ก็ไม่ดีใจจากการได้นั้น เพราะใจเราประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา ควบคุมอยู่ตลอดเวลา ผู้ใช้ธรรมะในการทำงาน เมื่อได้รับงานมาจะไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องทำ แต่คิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำ หลักการทำงาน เราต้องทำงานด้วยใจรัก ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ความเอาใจใส่ ใช้สติปัญญาคิดค้นเพื่อทำงานให้ดีขึ้น ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป
          คนมีค่าก็คือคนที่ทำงาน คนไร้ค่าก็คือคนไม่ทำงาน งานกับชีวิตเป็นของคู่กัน แยกออกจากกันไม่ได้ เมื่อเราแยกงานออกจากชีวิตเมื่อใด ชีวิตก็หมดค่าเมื่อนั้น เวลาใดเราไม่ทำงาน ชีวิตก็ไม่มีประโยชน์ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรารู้จักทำชีวิตให้เป็นประโยชน์ ด้วยการปฏิบัติงาน โดยที่พระองค์ทรงตักเตือนให้เราทั้งหลายได้คิดอยู่เสมอว่า เวลาล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรกันอยู่

          เวลาที่ล่วงไปนั้น มันไม่ได้ล่วงไปแต่เวลาเฉยๆ แต่ทำชีวิตของเราให้เปลี่ยนแปลงไปด้วย คือเปลี่ยนในทางเจริญขึ้นและเสื่อมลงไปทุกวันทุกเวลา เราจึงควรทำชีวิตร่างกายของเราให้เป็นประโยชน์ ด้วยการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมาย หรือทำงานของเราเองให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มกำลังความสามารถที่เราจะกระทำได้ อย่าอยู่นิ่งอยู่เฉย แต่จงอยู่ด้วยการทำงาน ด้วยการปฏิบัติหน้าที่เป็นการปฏิบัติธรรม คือทำงานเพื่องาน
ที่มา : หนังสือการทำงานเพื่องาน การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม

หรือถ้าใครอยากฟังปาฐถกธรรมพิเศษ ของหลวงพ่อพุทธทาส ที่ลานหินโค้ง สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ เชิญรับฟังได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=oXpdQKWeno0

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "How to Use Your Work as a Meditation Tool to Change Your Life"

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเตรียมตัวอย่างสำหรับการตรวจสอบทางโลหะวิทยา (Metallographic Specimen Preparation)

เนื่องจากนักตรวจสอบทางโลหะวิทยาอาจไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ว่าโครงสร้างจุลภาคที่ได้จากการตรวจสอบจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ดังนั้นการเตรียมตัวอย่างสำหรับการตรวจสอบจึงต้องสมบูรณ์ที่สุด มิฉะนั้นแล้วข้อมูลที่สำคัญต่างๆ อาจหลุดหายไปง่ายๆ ความจริงพื้นฐานเหล่านี้ถูกพิสูจน์มายาวนานแล้ว แต่ก็ยังมีคนฝ่าฝืน ดังนั้น ขั้นตอนในการเตรียมตัวอย่างและตัวอย่างที่เตรียมเสร็จแล้วต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้


• ต้องไม่มีการเสียรูปจากการตัด ขัดหยาบและขัดละเอียด หรือมีความลึกที่สามารถกำจัดได้โดยสารละลายกัดผิวหน้า (Etchant)

• ต้องไม่มีรอยขีดข่วนจากการขัดหยาบ หรือแม้แต่รอยขีดข่วนขนาดเล็กจากการขัดละเอียดไม่ควรปรากฏในการตรวจสอบชิ้นส่วนที่เสียหาย

• ควรหลีกเลี่ยงชิ้นส่วนที่เหลือค้างจากการตัดเฉือนหรือจากการขัดรุนแรงเกินไป รูเข็ม รอยแตกร้าวจากอนุภาคแข็ง รอยเสียดสีและจุดบกพร่องต่างๆที่เกิดจากการเตรียมชิ้นงาน

• ควรลดความแตกต่างที่เกิดจากความสูงต่ำของผิวหน้าหรือมีความแข็งต่างกัน เนื่องจากบริเวณที่ถ่ายภาพอาจไม่มีความคมชัดเมื่อถ่ายภาพที่กำลังขยายสูง การวิเคราะห์จากภาพอาจมีความคลาดเคลื่อน และเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในการตรวจสอบส่วนผสมทางเคมีด้วย wavelength-dispersive

• ผิวหน้าต้องราบเรียบรวมทั้งบริเวณขอบด้วย (ถ้าจำเป็นต้องตรวจสอบ) การรักษาสภาพบริเวณขอบถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการวิเคราะห์ความเสียหาย เนื่องจากความเสียหายโดยส่วนใหญ่มักเกิดที่ผิวด้านนอกของชิ้นส่วน

• การชุบหรือการเคลือบผิวหน้าต้องทำให้ผิวราบเรียบถ้าต้องตรวจสอบ วิเคราะห์ วัดค่าหรือถ่ายภาพบริเวณดังกล่าว

• สารละลายที่ใช้กัดผิวหน้าควรเลือกประเภทที่ปรากฏให้เห็นโครงสร้างจุลภาคทั้งหมดก่อน หลังจากนั้นค่อยให้สารละลายที่ศึกษาเฉพาะโครงสร้างหรือเฟสนั้นๆ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องสามารถเห็นความแตกต่างของโครงสร้างหรือเฟส 2-3 ชนิดได้อย่างชัดเจน เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวัดโครงสร้างทางจุลภาคหรือปรากฏให้เฟสที่ไม่พึงประสงค์ได้ดียิ่งขึ้น

ถ้าการเตรียมชิ้นส่วนมีลักษณะเฉพาะเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว การตรวจสอบจะแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างที่แท้จริงและสามารถนำไปแปรผล วัดค่า วิเคราะห์ผลและบันทึกได้ วิธีการในการเตรียมชิ้นงานควรเป็นอย่างง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีความสอดคล้องกัน ได้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูงในระยะเวลาที่สั้นที่สุดและค่าใช้จ่ายต่ำสุด และจะต้องนำมาตรวจสอบซ้ำได้

โดยทั่วไปแล้วการเตรียมชิ้นส่วนเพื่อตรวจสอบทางโลหะวิทยามีขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง 5 ขั้นตอน (ดูรูปด้านล่างประกอบ) คือ การตัดชิ้นงาน (Sectioning) การขึ้นเรือน (Mounting) การขัดหยาบ (Grinding) การขัดละเอียด (Polishing) และการกัดกรด (Etching) โดยขั้นตอนการขึ้นเรือนเย็นและกัดกรดอาจหลีกเลี่ยงได้ในบางกรณี ซึ่งรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนจะได้กล่าวในลำดับถัดไป

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบโดยไม่ทำลาย

(1) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์


อุปกรณ์และโครงสร้างต่างๆ นั้น จะต้องมีความปลอดภัยในขณะที่ใช้งาน ถ้าไม่มีรอย บกพร่องอยู่เลยก็จะมีความแข็งแรงทางกลเท่าเทียมกับวัสดุที่ไม่มีรอยบกพร่อง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วการที่จะให้มีวัสดุที่ไม่มีรอยบกพร่องเลยย่อมเป็นไปไม่ได้ ทำนองเดียวกันวิธีการผลิตที่จะไม่ก่อให้เกิดรอยบกพร่องเลยก็เป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ที่ตัวชิ้นส่วนหรือบริเวณรอยเชื่อมนั้นมีรอยบกพร่องอยู่เท่าใดจะประเมินได้โดย การตรวจสอบอุปกรณ์หรือโครงสร้างจริงที่จะใช้งาน แล้วตัดสินว่ารอยบกพร่องที่มีนั้นมีความปลอดภัยเพียงพอ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานหรือไม่ ข้อมูลที่จะใช้ในการตัดสินใจดังกล่าวจะได้จากการทดสอบโดยไม่ทำลายนั่นเอง

โดยการใช้วิธีการทดสอบแบบไม่ทำลายอย่างเหมาะสม จะสามารถตรวจสอบให้แน่ใจ ถึงความปลอดภัยและเพิ่มความเชื่อมั่นขึ้นได้ ซึ่งก็เป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่ง ของการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย

(2) เพื่อการปรับปรุงเทคนิคการผลิต

ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบจุดบกพร่องของชิ้นส่วนโลหะที่ผ่านการขึ้นรูปแบบหล่อ เช่น ล้อแมก ที่มักเกิดโพรงอากาศในบริเวณที่บางและมีโอกาสเกิดการไหลของน้ำโลหะแบบปั่นป่วน (Turbulent Flow) โดยการฉายภาพด้วยรังสี ซึ่งสามารถบอกตำแหน่งที่เกิดและลักษณะรูปร่างของจุดบกพร่องได้ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเพื่อกำหนดวิธีการเชื่อมที่เหมาะสม จะทำการวางแผนการเชื่อมต่างๆ แล้ว สร้างแผ่นทดสอบโดยเชื่อมตามแผนที่วางไว้ จากนั้นก็ทำการทดสอบโดยไม่ทำลายโดยวิธีการต่างๆ เริ่มตั้งแต่การทดสอบด้วยรังสีจากผลการทดสอบก็จะนำมาแก้ไขปรับปรุงวิธีการเชื่อม แล้วตัดสินใจเลือกวิธีการเชื่อมที่จะได้รอยเชื่อมที่มีคุณภาพตามต้องการ ซึ่งวิธีการทดสอบโดยไม่ทำลายก็มีส่วนช่วยในการปรับปรุงเทคนิคในการเชื่อมได้

ปัจจุบันนี้ การทดสอบแบบไม่ทำลายได้มีส่วนช่วยในการปรับปรุงเทคนิคการผลิตต่างๆ เป็นอย่างมากเริ่มจากเทคนิคในการเชื่อมเป็นประการแรก ต่อไปในอนาคตการทดสอบโดยไม่ทำลายก็จะยิ่งมีบทบาทสำคัญ โดยขาดเสียมิได้ในการช่วยพัฒนาปรับปรุงเทคนิคการผลิตต่างๆ มากยิ่งขึ้น

(3) เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ในการทำการทดสอบแบบไม่ทำลายนั้น จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการทดสอบขึ้น และอาจคิดว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าทำการทดสอบโดยไม่ทำลายในระหว่างกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัด จะทำให้ไม่มีการส่งผ่านผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเสียไปยังกระบวนการต่อไปโดยไม่รู้ล่วงหน้า ลดการสูญเสียในขั้นตอนต่อๆ ไปได้ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตโดยรวมลงไป

อุปมาเหมือนกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ารู้อาการล่วงหน้าได้ยิ่งเร็วเท่าใด ก็สามารถรักษาให้หายได้เร็วขึ้นเท่านั้น ทำนองเดียวกันถ้าได้ประยุกต์การทดสอบโดยไม่ทำลายตั้งแต่ขั้นต้นๆ ของกระบวนการผลิต ประหยัดกระบวนการและค่าใช้จ่ายโดยรวมไปได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดต้นทุนการผลิตลง

การล้างผิวเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยกรด (Pickling) และการสร้างฟิล์ม (Passivation)

Image credit: https://www.safefoodfactory.com/en/editorials/54-pickling-and-passivating-stainless-steel/ เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดการกัดกร่...