วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การแตกหักแบบเปราะ (Brittle Fracture)

วันนี้ผมขอนำเสนอรูปแบบการเสียหายของวัสดุแบบแรกนะครับ คือ การแตกหักแบบเปราะ

การแตกแบบเปราะของวัสดุเกิดขึ้นเมื่อการกระทำของแรงทางกลมีค่าสูงกว่าค่าความต้านทานแรงดึงสูงสุดของวัสดุ ทำให้วัสดุแตกออกจากกันเป็นสองชิ้นหรือมากกว่า โดยปรากฏให้เห็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างถาวร (Plastic Deformation) หรือการยืดตัวน้อยมากดังรูปที่ 1-2 ปัจจัยที่จะแสดงตัวเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดรอยร้าวและนำไปสู่การแตกแบบเปราะได้แก่ลักษณะเฉพาะของวัสดุและจุดบกพร่อง เช่น ร่องหลุม ช่องว่างขนาดเล็ก (Void) สิ่งเจือปน (Inclusion) รอยร้าว (Crack) และความเค้นตกค้าง (Residual Stress) การแตกร้าวมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วขณะที่วัสดุกำลังรับแรง มีการดูดซับพลังงานในปริมาณน้อย (เมื่อเทียบกับการแตกแบบเหนียว) รูปแบบการเสียหายนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับวัสดุที่เปราะ เช่นเซรามิกส์และโลหะที่แข็ง เมื่อตรวจสอบผิวหน้าแตกหักจะมีลักษณะที่เรียบและวาว ถ้าตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบแสงจะแสดงให้เห็นลักษณะการยืดตัวน้อยมากดังรูปที่ 3 และอาจสังเกตเห็นจุดบกพร่องหรือบริเวณที่มีความเค้นตกค้างสูง

รูปที่ 1 การแตกหักแบบเปราะของเพลาเหล็กกล้าไร้สนิม

สรุปการแตกหักแบบเปราะ
• มีการขยายตัวของรอยแตกอย่างรวดเร็วด้วยพลังงานเพียงเล็กน้อย
• ปราศจากการเสียรูปอย่างถาวร (plastic deformation)
• ผิวหน้าแตกจะเรียบเป็นมันวาว
• มีลักษณะเป็นเกรนเกิดคอคอดน้อยมาก – Plane strain condition


การลดหรือกำจัดจุดบกพร่องบนผิวหน้าและภายในวัสดุ เป็นวิธีการสำคัญที่จะปรับปรุงความต้านทานต่อการแตกแบบเปราะ จุดบกพร่องต่างๆ อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการประกอบติดตั้งหรือจากกระบวนการผลิต การเลือกใช้และประกอบชิ้นส่วนที่มีผิวหน้าเรียบจึงมีประโยชน์ต่อการป้องกันการแตกแบบเปราะ การมีมุมแหลมและร่องหลุมบนผิวหน้าวัสดุสามารถแสดงตัวเป็นจุดเริ่มต้นของการแตกแบบเปราะได้เช่นกัน นอกจากนั้นการลำเลียงและขนส่งอย่างระมัดระวังหลังจากการผลิตจะช่วยป้องกันการเสียหายทางกล เช่น รอยขีดข่วนและรอยกัดที่สามารถนำไปสู่การแตกเปราะได้ ท้ายที่สุด กระบวนการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมต่อการใช้งานจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้วัสดุสามารถรองรับแรงที่กระทำได้ การเสียหายด้วยรูปแบบดังกล่าวจึงเป็นอันตรายมาก วัสดุบางชนิด เช่น เหล็กหล่อเทา (Cast Iron) และเซรามิกส์ จะเกิดการแตกหักแบบเปราะเท่านั้น ในขณะที่วัสดุบางชนิด เช่น เหล็กกล้าคาร์บอน จะมีความเหนียวที่อุณหภูมิปกติและอุณหภูมิสูง แต่มีสมบัติที่เปราะและเกิดการแตกหักแบบเปราะที่อุณหภูมิต่ำ ดังนั้นสำหรับชิ้นส่วนที่มีความสำคัญสูง ไม่ควรเลือกใช้วัสดุที่เสี่ยงต่อการการแตกหักแบบเปราะในระหว่างใช้งาน


รูปที่ 2 ลักษณะทางมหภาค


รูปที่ 3 ชิ้นงานทดสอบแรงดึงที่เกิดการแตกหักแบบเปราะ

การแตกเปราะของวัสดุเชิงโลหะอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ก็มีลักษณะภาพถ่ายทางจุลภาคของผิวหน้าแตก 3 รูปแบบที่สามารถชี้ให้เห็นกลไกได้อย่างชัดเจน ลักษณะเหล่านั้น ได้แก่ cleavage facets, intergranular facets และ striations


• Cleavage facets มักเกิดขึ้นกับโลหะที่มีโครงสร้างผลึกแบบ body-centered cubic (bcc) และ hexagonal close-packed เมื่อรอยแตกวิ่งผ่าเกรน (เช่น ระนาบ {100} ในโลหะ bcc) ซึ่ง Cleavage เป็นลักษณะเฉพาะของการแตกเปราะแบบผ่าเกรนดังรูปที่ 4

รูปที่ 4 รอยแตกแบบผ่านเกรนของเหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ

 
• Intergranular fracture เรียกตามลักษณะที่ปรากฏคล้ายน้ำตาลเกล็ด (rock candy) เกิดขึ้นเมื่อรอยแตกวิ่งตามขอบเกรนดังรูปที่ 5 ซึ่งการแตกด้วยรูปแบบดังกล่าวเป็นลักษณะเฉพาะของรอยแตกร้าวจากความเค้นร่วมกับการกัดกร่อน (SCC) การแตกเปราะเนื่องจากไฮโดรเจน (hydrogen embrittlement) และการแตกเปราะของเหล็กกล้าที่ผ่านการอบอ่อน (temper embrittlement)

รูปที่ 5 รอยแตกแบบตามขอบเกรนของเหล็กกล้าคาร์บอนปานกลาง

• striations เป็นแนวการขยายตัวแบบจุลภาคของรอยแตกจากการล้า (Fatigue Fracture) ซึ่งจะแสดงให้เห็นแต่ละคาบของความเค้นหรือรอบของความเค้นแต่ละรอบที่กระทำกับชิ้นงาน ซึ่งเส้นเหล่านี้เราไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยการตรวจสอบในกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง เช่น กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกน (Scanning Electron Microscope; SEM) เท่านั้นดังรูปที่ 6
รูปที่ 6 striation patterns






7 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับ พอดีผมทำงานด้าน inspection ได้ประโยชน์มากเลยครับ ถ้ามีข้อมูลเกี่ยวกับ mechanical damage ทั้งหมด ผมขอด้วยนะครับ

    ตอบลบ
  2. ความล้มเหลวของโลหะแบบนี้คือเหตุผลที่ไททานิคจมใช่ป่ะครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สำหรับปัญด้านโลหะวิทยาที่ทำให้เรือไททานิคจมนั้น เขากล่าวไว้ว่า "Metallurgical examination and chemical analysis of the steel taken from the Titanic revealed important clues that allow an understanding of the severity of the damage inflicted on the hull. Although the steel was probably as good as was available at the time the ship was constructed, it was very inferior when compared with modern steel. The notch toughness showed a very low value (4 joules) for the steel at the water temperature (-2 °C) in the North Atlantic at the time of the accident."

      หรือเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ http://download-v2.springer.com/static/pdf/702/art%253A10.1007%252FBF02715155.pdf?token2=exp=1430282037~acl=%2Fstatic%2Fpdf%2F702%2Fart%25253A10.1007%25252FBF02715155.pdf*~hmac=1d4ec055f66be9a3e20ddb28dc840a3157b08fca07a49329f35119227e57ae1a

      ลบ
  3. ความหนา บาง ของโลหะ มีผลอย่างไรกับการแตกแบบเปราะค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ9 ตุลาคม 2562 เวลา 20:42

      ความหนา​ บางของชิ้นงานอาจส่งผลในด้านการแตกหักแบบK1C(เควันซี)​ได้ครับ

      ลบ
  4. ถ้าหากชิ้นงานไม่มีการเสียรูปไม่มีครีบหลังการแตกหักจะถือได้ว่าเป็นการแตกแบบเปราะ 100% ไหมครับ

    ตอบลบ

การล้างผิวเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยกรด (Pickling) และการสร้างฟิล์ม (Passivation)

Image credit: https://www.safefoodfactory.com/en/editorials/54-pickling-and-passivating-stainless-steel/ เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดการกัดกร่...