พอมาเปรียบเทียบกับมนุษย์เรา มันก็ไม่ต่างกันกับความเสียหายของวัสดุ เนื่องจากสรรพสิ่งทั้งหลายตกอยู่ภายใต้กฏเดียวกัน คือ กฏไตรลักษณ์ นั่นคือ เมื่อมีเกิดขึ้น ก็มีตั้งอยู่ และย่อมดับไป มนุษย์ท่านใดที่ใช้ชีวิตอย่างประมาท เช่นละเมิดศีล 5 ชีวิตก็อาจจะสั้น เป็นต้น ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน คือ ถ้าท่านกินเหล้าหรือสูบบุหรี่ ก็เหมือนกับชิ้นส่วนที่ถูกสัมผัสกับสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ไม่นานก็เสื่อมสภาพและแตกหักหรือตายไปในสุด
เมื่อเราเห็นดังนี้แล้วก็ควรจะน้อมเข้ามาใส่ตัว คือ พิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องแตกดับ ไม่หลีกพ้นไปได้ แต่ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ควรจะศึกษาและปฏิบัติธรรมให้มากๆ จะได้ไม่เสียชาติเกิด เพราะการได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนจะยากยิ่ง
ดังนั้นในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน ผมสามารถยืนยันได้เลยว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็สามารถนำมาพิจารณาเป็นข้อธรรมได้ทั้งนั้น อย่าปล่อยให้เสียโอกาสนะครับ
มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนตัดได้ยากมาก คือ การตัดกาย หรือ สักกายทิฎฐิ ซึ่ง เป็นการถือตัว ถือตน จนนำมาสู่ให้เกิดกามราคะ วันนี้ผมจึงมีกลอนที่ใช้เตือนสติสำหรับผู้ที่หลงในความสวย ความงาม เราลองมาพิจารณาให้เป็นธรรม บางท่านอาจจะพิจารณาเป็นอสุภะก็ได้
นารีจะดูงาม..............ก็เมื่อยามที่ยังเยาว์
แก่แล้วก็เหี่ยวเฉา.......บ่มีส่วนจะพึงชม
ดุจปวงบุปผชาติ.........งามวิลาศน่าเด็ดดม
แรกบานก็งามสม.........แต่บ่นานก็โรยรา
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านสอนเรื่อง การทำงานเพื่องาน การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม ไว้ดังนี้
งานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต
งานทำให้ชีวิตอยู่รอดและมีคุณค่า ถ้าปราศจากงานเราจะมีปัญหา
ทั้งกายและใจ
แต่คนไม่น้อยที่ไม่ชอบงานและไม่รู้จักทำงานอย่างถูกต้อง คอยหลบเลี่ยงงาน หรือทำด้วยความเบื่อหน่าย
จึงไม่ได้รับความสุขที่แท้จริงในชีวิต เพราะความสุขแท้มีแต่ในงาน
และการทำงานก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งควรสนใจทำให้ถูกต้องการทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม การทำงานที่เป็นการปฏิบัติธรรมนั้น ต้องเป็นงานที่เป็นสัมมาชีพ คือ เป็นงานประเภทที่ไม่เดือดร้อนแก่ใคร ไม่เป็นปัญหา ไม่สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในสังคม ไม่ทำลายสังคมให้พิกลพิการด้วยงานที่เราทำขึ้นมา อย่างนั้น เรียกว่าเป็นงานชอบ
ผู้ที่ทำงานชอบอย่างนั้นก็เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องทำงานอันเป็นหน้าที่ ที่ถูกต้อง คือ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่เป็นเหตุทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในสังคมนั้นๆ จึงชื่อว่างานนั้นเป็นงานที่ถูกต้อง
ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องทำงานด้วยสำนึกว่าเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำ แล้วก็ทำไปตามหน้าที่ ไม่ได้ทำเพื่ออะไรๆ ไม่หวังอามิส ไม่หวังอะไรทั้งนั้น สิ่งใดที่ได้มา ก็ได้มาตามเรื่องของงาน ไม่ได้ดีใจ ไม่ได้เสียใจ เมื่อไม่ได้ ได้มาก ก็ไม่ดีใจ ได้น้อย ก็ไม่เสียใจ ได้ช้าไป ก็ไม่เสียใจ ได้เร็วไป ก็ไม่ดีใจจากการได้นั้น เพราะใจเราประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา ควบคุมอยู่ตลอดเวลา ผู้ใช้ธรรมะในการทำงาน เมื่อได้รับงานมาจะไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องทำ แต่คิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำ หลักการทำงาน เราต้องทำงานด้วยใจรัก ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ความเอาใจใส่ ใช้สติปัญญาคิดค้นเพื่อทำงานให้ดีขึ้น ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป
คนมีค่าก็คือคนที่ทำงาน คนไร้ค่าก็คือคนไม่ทำงาน งานกับชีวิตเป็นของคู่กัน แยกออกจากกันไม่ได้ เมื่อเราแยกงานออกจากชีวิตเมื่อใด ชีวิตก็หมดค่าเมื่อนั้น เวลาใดเราไม่ทำงาน ชีวิตก็ไม่มีประโยชน์ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรารู้จักทำชีวิตให้เป็นประโยชน์ ด้วยการปฏิบัติงาน โดยที่พระองค์ทรงตักเตือนให้เราทั้งหลายได้คิดอยู่เสมอว่า เวลาล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรกันอยู่
เวลาที่ล่วงไปนั้น
มันไม่ได้ล่วงไปแต่เวลาเฉยๆ แต่ทำชีวิตของเราให้เปลี่ยนแปลงไปด้วย
คือเปลี่ยนในทางเจริญขึ้นและเสื่อมลงไปทุกวันทุกเวลา
เราจึงควรทำชีวิตร่างกายของเราให้เป็นประโยชน์
ด้วยการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมาย
หรือทำงานของเราเองให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มกำลังความสามารถที่เราจะกระทำได้
อย่าอยู่นิ่งอยู่เฉย แต่จงอยู่ด้วยการทำงาน
ด้วยการปฏิบัติหน้าที่เป็นการปฏิบัติธรรม คือทำงานเพื่องาน
ที่มา : หนังสือการทำงานเพื่องาน การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม
หรือถ้าใครอยากฟังปาฐถกธรรมพิเศษ ของหลวงพ่อพุทธทาส ที่ลานหินโค้ง สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ เชิญรับฟังได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=oXpdQKWeno0
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "How to Use Your Work as a Meditation Tool to Change Your Life"