วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

จรรยาบรรณของนักวิเคราะห์ความเสียหาย (2)

ถึงแม้ว่าเนื้อหาที่จะกล่าวต่อไปนี้จะเน้นไปที่สังคมของนักวิเคราะห์ความเสียหาย แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายๆ วิชาชีพ

นิยามจรรยาบรรณ

โดยปกติแล้ว จรรยาบรรณไม่ใช่ข้อบังคับและไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นแนวทางหรือกรอบแห่งการดำเนินงานที่ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ พึงถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทุกสาขามีจุดประสงค์ร่วมกัน คือ มุ่งความเจริญ ความมั่นคงของผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ

คำว่าจรรยาบรรณเป็นคำสมาสระหว่าง “จรรยา” ซึ่งหมายถึง ความประพฤติหรือกิริยาที่ควรประพฤติ ส่วนคำว่า “บรรณ” หมายถึงเอกสารหรือหนังสือ ดังนั้น เมื่อนำมารวมกัน จึงมีความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ว่า “ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้”

พฤติกรรมแบบไหนที่ถือว่าเป็นไปตามหลักจรรยาบรรณ

พฤติกรรมจรรยาบรรณ (Ethical Behavior) คือ พฤติกรรมที่เป็นผลมาจากการเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำและไม่กระทำของเรา ที่มีพื้นฐานอยู่บนความกรุณาปราณี ทั้งนี้มิได้ตั้งเป็นกฎเกณฑ์ว่าให้ปฏิบัติหรือไม่ให้ปฏิบัติตาม แต่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับในรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น งานวิเคราะห์ความเสียหายของวัสดุ คู่มือควรประกอบไปด้วยความรู้เกี่ยวกับการรักษาสภาพชิ้นงานและหลักฐานว่าควรเป็นอย่างไรและควรปฏิบัติเมื่อใด ควรมีการยอมรับเมื่อมีการทำผิดพลาด และดำเนินการทดสอบด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ได้คำตอบตามความเป็นจริง เป็นต้น

การเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (Deepened Understanding)
ทำไมถึงต้องกล่าวว่า พฤติกรรมที่มีจรรยาบรรณ คือพฤติกรรมที่เกิดจากการเข้าใจอย่างลึกซึ้ง อันที่จริงแล้วหลักจรรยาบรรณจะเกิดขึ้นเฉพาะบุคคล ซึ่งเราทราบกันดีว่า แต่ละคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีมุมมองหรือวิสัยทัศน์ที่กว้าง-แคบต่างกัน ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า การเข้าใจอย่างลึกซึ้งสามารถเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ของแต่ละคนเท่านั้น ถ้ามีการเรียนรู้บนพื้นฐานการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง จะนำไปสู่พฤติกรรมที่มีจรรยาบรรณในมาตรฐานต่ำ และถ้ามีการเรียนรู้บนพื้นฐานความเข้าใจอย่างถูกต้องและลึกซึ้ง ก็จะนำไปสู่พฤติกรรมที่มีจรรยาบรรณในมาตรฐานที่สูง

ธรรมชาติได้มอบความคิดมาให้เป็นสมบัติของมนุษย์ ทว่าไม่ได้มอบความคิดฝ่ายกุศล (ดี) มาให้เท่านั้น ยังมอบความคิดฝ่ายอกุศล (ไม่ดี) มาให้ด้วย พร้อมทั้งอิสรเสรีในการที่จะคิดดีหรือชั่วได้ตามใจปรารถนา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเรื่องใดขึ้นมาขบคิด ความคิดจึงเป็นดาบสองคมอยู่ในตัว พร้อมที่จะทำให้เราทุกข์ได้ถ้าคิดชั่ว และพร้อมที่จะเป็นสุขได้ถ้าคิดดี เพราะฉะนั้นการที่จะคิดดีเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดประโยชน์และให้เกิดการเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว จำเป็นต้องมีการฝึกฝนด้านจิตใจ ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นชาวพุทธก็ควรจะฝึกปฏิบัติธรรมตามหลักแห่งสติปัฎฐานสี่ ซึ่งเป็นการฝึกให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ที่คิดและปรุงแต่ง สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี เป็นต้น แล้วนำหลักธรรมเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับการทำงานในชีวิตประจำวัน

เราควรจะฝึกฝนพัฒนาตัวเราเอง เพื่อให้มีความเป็นอิสระจากวิธีการในการวิเคราะห์ (ไม่ยึดติดในวิธีการเดิมๆ) ที่ให้ความน่าเชื่อถือและสามารถไว้วางใจได้ ถ้าเราสามารถบรรลุผลข้อนี้ไปได้ เราก็จะสามารถมองภาพรวมได้ชัดเจนหรือมีมุมมองที่กว้างขึ้น มุมมองที่กว้างนี้อาจจะทำให้เกิดคำถามขึ้นมาได้มากมาย ทำให้เกิดความละเอียดในการตรวจสอบ

เป็นที่ทราบกันดีว่า การให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่ควรทำหรือไม่ควรทำ ผิดชอบชั่วดี ก็มีการสอนกันตั้งแต่ชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษาแล้ว นอกจากนั้นทุกศาสนาก็ล้วนแต่สอนให้คนเป็นคนดี การเข้าใจอย่างลึกซึ้งช่วยให้เราไม่มีอคติ การเล่าเรียนศึกษาและฝึกปฏิบัติจากสถานศึกษาที่สอนทางด้านวิศวกรรม ก็ล้วนแต่ชี้แนะแนวทางให้ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมมากกว่ากฎเกณฑ์ ประสบการณ์ทำให้เราเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้นและดีขึ้น และที่สำคัญจะทำให้มองเห็นความสำคัญของจริยธรรม เนื่องจากส่งผลต่อความสุขทางใจด้วย

การมีความกรุณาปราณี (In the presence of compassion)
คำว่ากรุณา (Compassion) เป็นหนึ่งในสี่ของหลักพรหมวิหาร 4 ซึ่งเป็นธรรมะสำหรับผู้ปกครอง แปลว่า ความปรารถนาให้คนอื่นพ้นทุกข์ แม้มนุษย์จะด้อยกว่าสัตว์เดรัจฉานในเรื่องสัญชาติญาณ แต่ก็เหนือกว่าสัตว์เดรัจฉานในเรื่องฝึกฝน ข้อสำคัญของมนุษย์จึงอยู่ที่การฝึกฝนอบรมตน เพื่อให้มีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา ต้องการช่วยเหลือคนอื่นๆ ให้คลายความกังวลจากข้อสงสัย
สำหรับนักวิเคราะห์ความเสียหายของวัสดุ เราเข้าไปตรวจสอบเพื่อต้องการให้เกิดความกระจ่างถึงต้นตอของสาเหตุ ต้องการหาคนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้ใช้งาน นอกจากนั้นเรายังเสนอแนะแนวทางแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานั้นอีกในอนาคต เพื่อสวัสดิภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะการรักษาคนอื่นรวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็เท่ากับรักษาตัวเราเอง ถ้าเราไม่ทำเช่นนั้นก็เท่ากับไม่รักตัวเอง

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำและไม่กระทำของเรา
ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้อันเกิดจากการกระทำและไม่กระทำของเรานั้น อาจจะส่งผลต่อความชัดเจนของสาเหตุที่เกิดขึ้น และส่งผลต่อเนื่องต่อผู้ผลิต ผู้ใช้งาน ในการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงการผลิต การทำนาย การบำรุงรักษาและการซ่อมบำรุง ดังนั้นถ้านักวิเคราะห์ความเสียหายมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำ จะทำให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ในความเป็นจริงแล้ว มีหลายกรณีความเสียหายที่ไม่ได้ทำการตรวจสอบ โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีคนกล่าวโทษร้องทุกข์ ความเป็นจริงจึงไม่ปรากฏต่อสาธารณชน
ดังนั้น นักวิเคราะห์ความเสียหายควรจะถามตัวเองดังๆ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติงานว่า
-อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเราสะเพร่าในการทำงาน
-อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเราเห็นด้วยกับข้อสรุปตามความคิดเห็นของเรา โดยไม่ได้ทำการทดสอบให้ครบทุกขั้นตอน เนื่องจากไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่าย
-อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเราให้ความรู้ให้กับบางคน แล้วเขานำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ดี

โปรดติดตามตอนต่อไป.....................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การล้างผิวเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยกรด (Pickling) และการสร้างฟิล์ม (Passivation)

Image credit: https://www.safefoodfactory.com/en/editorials/54-pickling-and-passivating-stainless-steel/ เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดการกัดกร่...