วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

จรรยาบรรณของนักวิเคราะห์ความเสียหาย (1)

บทนำ

เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันได้มีการกล่าวถึง จริยธรรม จรรยาบรรณ หรือ คุณธรรมกันมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้นำ เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดความสงบสุข ความสมัครสมานสามัคคีกันของคนในสังคมได้ด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะประกอบสัมมาอาชีพใดก็ตาม ควรจะดำเนินกิจกรรมของตัวเองตามหลักของวิชาชีพและหลักจริยธรรม ในปัจจุบันนี้มีการประกอบวิชาชีพมากมายหลายแขนง แต่ละแขนงก็มีความแตกต่างกันออกไปทั้งในรูปแบบของกิจกรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม แต่ทุกวิชาชีพก็ล้วนแต่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเป็นของของตน ถ้าสมาชิกคนใดคนหนึ่งประพฤติเสื่อมเสีย ก็ทำให้เหล่าสมาชิกและชื่อเสียงของวิชาชีพนั้นพลอยได้รับความเสื่อมเสียไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพที่มีผลกระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เช่น วิศวกร ครู แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ สื่อ และนักการเมือง เป็นต้น เพื่อให้เป็นการเข้าใจตรงกันในการปฏิบัติงาน บางวิชาชีพจึงได้กำหนดและเขียนหลักที่พึงปฏิบัติ เรียกกันว่า หลักจรรยาบรรณ ขึ้นมา

สำหรับในสังคมของวิศวกรรมการตรวจสอบความเสียหาย (Engineering Investigation) ซึ่งเป็นวิชาชีพอีกแขนงหนึ่งที่มีส่วนในการชี้เป็นชี้ตาย หรือ มีส่วนทำให้คนใดคนหนึ่งหรือฝ่ายใดหนึ่งได้ผลประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ดังนั้นการทำงานของนักวิเคราะห์ความเสียหายจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรม ตรงไปตรงมา เป็นไปตามหลักฐานที่ปรากฏและหลักวิชาการ ไม่เอนเอียงไปตามกระแส ตามอำนาจของเงินตราหรือกิเลสต่างๆ ที่มายั่วยุให้เราทำผิดหลักจรรยาบรรณ

เจตนาที่เขียนหัวข้อนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะแบ่งปันประสบการณ์ของนักวิเคราะห์ความเสียหายคนหนึ่งที่เผชิญหน้ากับงานที่เกิดการเสียหายอยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นงานที่ต้องตัดสินว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดการเสียหายด้วยสาเหตุใด ใครเป็นคนทำให้เกิด โดยได้ปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณทางวิศวกรรม และเพื่อเป็นการเตือนสติหรือกระตุ้นต่อมจริยธรรมให้ผู้ที่ประกอบวิชาชีพเดียวกันนี้ได้นำไปปฏิบัติ อันจะทำให้คนในสังคมอาศัยอยู่ร่วมกันได้สันติสุข

วิศวกรรมหลายสาขาได้นำเอาหลักจริยธรรมหรือจรรยาบรรณมาใช้ในการปฏิบัติงาน แต่เรามักจะพบว่าพวกเขาส่วนมากไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้อย่างแท้จริงในบางสถานการณ์ บางครั้งประมวลจรรยาบรรณที่กำหนดขึ้นมาก็มีความขัดแย้งในตัวมันเอง แต่สิ่งที่ประหลาดใจ คือ ผมพบว่าการทำงานตามหลักศีลธรรมกลับประสบผลสำเร็จมากกว่าการปฏิบัติตามประมวลแห่งจรรยาบรรณ (Code of Ethics) ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบในมุมมองของผมที่เป็นชาวพุทธ คือ หลักธรรมคำสอนต่างๆ นั้น ได้มาจากศาสดาผู้ที่ไม่มีกิเลสบัญญัติขึ้นมา ในขณะที่กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เหล่านี้ ได้มาจากผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เป็นคนบัญญัติขึ้นมา

โปรดติดตามตอนต่อไป.................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การล้างผิวเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยกรด (Pickling) และการสร้างฟิล์ม (Passivation)

Image credit: https://www.safefoodfactory.com/en/editorials/54-pickling-and-passivating-stainless-steel/ เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดการกัดกร่...