วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2566

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างความเสียหายจากการคืบ (Creep) และการล้า (Fatigue)

ในโพสต์นี้ เราจะมาศึกษาความแตกต่างระหว่างความเสียหายจากการคืบและความเสียหายจากการล้า ซึ่งทั้งสองกลไกมีอิทธิพลต่ออายุการใช้งานของชิ้นส่วนทางวิศวกรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างอย่างยิ่งการใช้งานในกลุ่มปิโตรเคมีที่มักมีการใช้งานที่อุณหภูมิสูงในขณะเดียวกันก็อาจรับแรงดึงแบบคงที่ (Static load) และแรงแบบคาบ (Cyclic load) ซึ่งหลายท่านอาจเคยวิเคราะห์ชิ้นส่วนที่เสียหายด้วย 2 กลไกที่กล่าวมาแล้ว อาจพอแยกแยะได้ ส่วนท่านที่ยังไม่เคยเห็นชิ้นงานจริงหรือยังไม่เคยวิเคราะห์ เรามาเรียนรู้กันในโพสต์นะครับ.....

ท่อในหม้อไอน้ำเสียหายจากการคืบ

 
เพลาเหล็กกล้าไร้สนิมเสียหายจากการล้า

ความเสียหายจากการคืบและความเสียหายจากการล้าถือเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างมากในวิศวกรรมการออกแบบและวัสดุศาสตร์ ซึ่งทั้งสองรูปแบบเกิดขึ้นจากสภาวะการรับแรง กลไกและระยะเวลาที่แตกต่างกัน

ขออนุญาตสรุปปัจจัยเด่น 10 ประการที่สามารถระบุกลไกทั้งสอง ดังนี้ (อาจมีปัจจัยมากกว่านี้นะครับ):

ความแตกต่างของกลไก

ความเสียหายจากการคืบและความเสียหายจากความล้าเป็นกลไกการเสื่อมสภาพของวัสดุที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละกลไกเกิดขึ้นภายใต้สภาวะที่แตกต่างกันและส่งผลกระทบต่อวัสดุที่แตกต่างกัน

ความแตกต่างของกลไก

ความเสียหายจากการคืบเป็นผลมาจากการสัมผัสที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานานในขณะเดียวกันก็รับความเค้นแรงดึงคงที่ไปด้วย ซึ่งนำไปสู่การเสียรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ความเสียหายจากความล้าเกิดจากการรับแรงแบบคาบ/รอบ ทำให้เกิดรอยแตกขนาดเล็กแล้วขยายตัวเป็นรอยแตกขนาดใหญ่และนำไปสู่ความเสียหายในที่สุด

สภาวะการรับแรง:

การคืบเกิดขึ้นภายใต้ความเค้นแรงดึงที่และอุณหภูมิสูงในช่วงระยะเวลาของการยืดขยายตัว ในขณะที่ความล้าเกิดขึ้นจากการรับแรงแบบคาบหรือรอบ แม้ในระดับความเค้นที่ต่ำกว่าความแข็งแรงที่จุกครากและ/หรือที่จุดสูงสุดของวัสดุ

ระยะเวลา:

การคืบค่อนข้างใช้เวลาซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ชั่วโมงจนอาจถึงหลายปี ในขณะที่ความเสียหายจากความล้าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นกว่าเนื่องจากมักขึ้นอยู่กับจำนวนรอบที่ได้รับเป็นหลัก (อาจหลายพันจนถึงล้านรอบ)

ผลของอุณหภูมิ:

การคืบต้องใช้อุณหภูมิที่สูง (0.4-0.5 เท่าของจุดหลอมละลายของโลหะนั้น ๆ) เพื่อให้กระบวนการถูกกระตุ้นจากความร้อน อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจากความล้าสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอุณหภูมิรวมถึงอุณหภูมิห้องด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างจุลภาค:

การคืบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจุลภาค เช่น การเกิดเกรนโต (Grain growth) และมีการเปลี่ยนแปลงเฟส (Phase transformations) ในทางตรงกันข้าม ความล้าส่วนใหญ่จะนำไปสู่การเริ่มต้นและการขยายตัวของรอยแตกรอบ ๆ บริเวณที่มีความเข้มข้นของความเค้น (Stress concentration sites)

การสะสมความเสียหาย:

การคืบมักมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างถาวรแบบค่อยเป็นค่อยไปแม้ว่าจะไม่มีแรงกระทำจากภายนอกก็ตาม ในขณะที่ความเสียหายจากความล้าจะมีการสะสมเมื่อมีรอยแตกเล็กๆ และขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละรอบการรับแรง และนำไปสู่ความเสียหายในที่สุด

รูปแบบการเสียหาย:

การคืบสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางมิติ การบิดเบี้ยว และการแตกร้าว ในขณะที่ความเสียหายจากความล้ามีลักษณะเฉพาะคือการแตกหักที่ค่อย ๆ ขยายตัวในช่วงเริ่มต้นและแตกแบบทันทีทันใดในช่วงสุดท้ายเนื่องจากรอยแตกมีการขยายตัวเรื่อย ๆ

ระดับความเค้น:

ความเสียหายจากการคืบเกิดขึ้นที่ระดับความเค้นใกล้ความแรงที่จุดครากหรือสูงกว่า ในขณะที่การเสียหายจากความล้าอาจเกิดขึ้นได้ที่ระดับความเค้นต่ำกว่าความแข็งแรงที่จุดครากของวัสดุ

อัตราการยืดตัว:

การคืบมักมีอัตราการยืดตัวต่ำเนื่องจากธรรมชาติของมันขึ้นอยู่กับเวลา ในขณะที่ความล้ามักมีอัตราการยืดตัวสูงกว่าจากการรับแรงแบบคาบ

แนวทางป้องกัน:

การป้องกันความเสียหายจากการคืบจำเป็นต้องเลือกวัสดุและการออกแบบที่เหมาะสมเพื่อลดการสัมผัสกับอุณหภูมิสูงและความเค้นคงที่ ในขณะที่การป้องกันความเสียหายจากความล้า จำเป็นต้องลดค่าความเค้นเฉลี่ย (Mean stress) ให้ต่ำลง สร้างสภาวะความเค้นแรงกดให้เกิดบนผิวหน้า เช่น การยิงเม็ดโลหะ (Shot peening) และการใช้วัสดุที่มีความต้านทานความล้าที่ดี เช่น ชิ้นงานที่ผ่านการชุบผิวแข็ง

ทั้ง 10 ประเด็นสามารถสรุปคร่าว ๆ ได้ตามตารางด้านล่างนะครับ

หัวข้อ

การเสียหายจากการคืบ

การเสียหายจากการล้า

ความแตกต่างของกลไก

เป็นการเสียหายที่อุณหภูมิสูงและรับแรงดึงคงที่

เป็นการเสียหายจากการรับแรงแบบคาบที่ต่ำกว่าค่าความแข็งแรงที่จุดคราก

สภาวะการรับแรง

ความเค้นแรงดึงที่และสัมผัสอุณหภูมิสูง

รับแรงแบบคาบหรือรอบ

ระยะเวลา

หลายชั่วโมงถึงหลายปี

พันถึงล้านรอบ

ผลของอุณหภูมิ

อุณหภูมิสูง

เกิดขึ้นได้ทุกช่วงอุณหภูมิ

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างจุลภาค

การเกิดเกรนโต มีการเปลี่ยนแปลงเฟส และมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการแพร่

ในระยะแรกมีการเกิดจุดเริ่มต้นและมีการขยายตัวในระยะต่อมา

การสะสมของความเสียหาย

มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างถาวรแบบค่อยเป็นค่อยไป

มีการยืดขยายตัวของรอยร้าวขนาดเล็กออกมาเรื่อย ๆ

ระดับความเค้น

ที่ระดับความเค้นใกล้ความแรงที่จุดครากหรือสูงกว่า

อาจเกิดขึ้นได้ที่ระดับความเค้นต่ำกว่าความแข็งแรงที่จุดครากของวัสดุ

อัตราการยืดตัว

มีอัตราการขยายตัวต่ำเนื่องจากเป็นกระบวนการที่ขึ้นอยู่กับเวลา

มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าเนื่องจากเป็นการรับแรงแบบคาบ

แนวทางป้องกัน

เลือกวัสดุใหม่ และหาสภาวะที่เหมาะสมในการใช้งานที่อุณหภูมิสูง

ควบคุมสภาวะการรับแรงแบบคาบให้เหมาะสม ลดความเต้นตกค้าง เลือกวัสดุที่ต้านทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การกัดกร่อนกับท่อทองแดงแบบรังมด (Ant-nest corrosion)

วันนี้มีเคสจากหน่วยงานขนส่งมวลแห่งหนึ่งแจ้งว่าท่อทองแดงในระบบเครื่องปรับอากาศเกิดการกัดกร่อนแล้วนำมาสู่การรั่วมาปรึกษา ผมจำได้ว่าเคยวิเคราะห...