วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เหล็กกล้าไร้สนิม (ตอนที่ 25) : กระบวนการเพิ่มความแข็งให้กับเหล็กกล้าไร้สนิมกลุ่มเพิ่มความแข็งโดยการตกตะกอน (heat treatment of precipitation hardening stainless steel)

ต่อจากตอนที่แล้วนะครับ ยังคงอยู่ในเรื่องเหล็กกล้าไร้สนิมกลุ่มทำให้แข็งขึ้นดดยการตกตะกอน

เนื่องจากเหล็กกล้าไร้สนิมกลุ่มเพิ่มความแข็งโดยการตกตะกอนสามารถเพิ่มความแข็งโดยกระบวนการทางความร้อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีขั้นตอนพื้นฐาน 3 อย่าง [138, 145] ดังนี้

1)   การให้ความร้อนเพื่อทำให้สารละลายเป็นเนื้อเดียว (Solution Treatment)

กระบวนการดังกล่าวประกอบด้วยการให้ความร้อนค่อนข้างสูง ซึ่งเหล็กกล้าไร้สนิมมักให้ความร้อนในช่วงอุณหภูมิ 980-1120 องศาเซลเซียส เพื่อให้สารประกอบที่ตกตะกอนและธาตุผสมเกิดการละลายในลักษณะที่อิ่มตัวอย่างยิ่งยวด (Supersaturated Solution) ขั้นตอนดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ในระหว่างกระบวนการรีดร้อน (Hot Rolling) ซึ่งมักเรียกสภาวะดังกล่าวว่า “Mill Anneal” หรือ “Condition A” [141] 

2)   การชุบแข็ง หรือ การเย็นตัว (Quenching or Cooling)

หลังจากโลหะผสมได้รับความร้อนจนกลายเป็นสารละลายที่อิ่มตัวอย่างยิ่งยวดแล้ว จะถูกทำให้เย็นตัวมาที่อุณหภูมิห้อง โดยอาจทำการเย็นตัวในอากาศ น้ำมันหรือน้ำก็ได้ แต่จะต้องมีอัตราการเย็นตัวเร็วเพียงพอ เพื่อให้วัสดุอยู่ในสภาวะของสารละลายของแข็งที่อิ่มตัวอย่างยิ่งยวด (Supersaturated Solid Solution) และควรควบคุมอัตราการเย็นตัวในขั้นตอนดังกล่าว เพื่อให้ชิ้นส่วนมีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยทั่วไป ถ้าการเย็นตัวจากช่วงอุณหภูมิสูงมีอัตราต่ำ มักส่งผลให้วัสดุได้ลักษณะของเกรนที่หยาบ (Coarse Grain Size) มากกว่าอัตราการเย็นตัวสูงจากช่วงอุณหภูมิที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ประสิทธิภาพของวัสดุสามารถปรับปรุงได้โดยการควบคุมให้เกรนมีลักษณะที่เล็กละเอียด (Fine Grain Size)  

3)   การเพิ่มความแข็งโดยการตกตะกอน (Precipitation or Age Hardening)

เพื่อให้สารละลายของแข็งที่อิ่มตัวอย่างยิ่งยวดเกิดการแยกตัวของเฟสที่สอง มีลักษณะเป็นกลุ่มของอนุภาคที่ตกตะกอนเล็ก ๆ (Small Precipitate Cluster) กระจายตัวทั่วไปในโลหะพื้น ซึ่งขึ้นอยู่กับเวลาและ/หรืออุณหภูมิ เพื่อเพิ่มความต้านทานของโลหะพื้นไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเนื่องจากแรงกระทำ เป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับวัสดุ สำหรับโลหะผสมบางชนิด อาจเกิดการตกตะกอนที่อุณหภูมิห้องหลังจากที่ทิ้งไว้ระยะหนึ่ง ซึ่งเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า “Natural Aging” แต่ถ้ามีการให้ความร้อนเพื่อเร่งหรือส่งเสริมให้เกิดการแข็งขึ้นของโลหะผสมจะเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า “Artificial Aging” [146]
ความสัมพันธ์เชิงคุณลักษณะระหว่างความแข็งและอุณหภูมิบ่มแข็งของ PH ประเภทออสเตนนิก


ถ้าควบคุมตัวแปรในขั้นตอนการบ่มแข็งไม่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าปกติ อาจนำไปสู่ปรากฏการณ์การบ่มแข็งมากเกินไป (Over-aging) ซึ่งวัสดุจะมีความสามารถในการยืดตัวมากขึ้น ทั้งนี้เกิดจากอนุภาคที่เพิ่มความแข็งแรงให้กับวัสดุมีขนาดเพิ่มขึ้น เมื่อเกรนหยาบขึ้นจะส่งผลให้วัสดุมีความแข็งลดลง และสามารถกล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า วัสดุมีความสามารถในการยืดตัวเพิ่มขึ้นหรือมีความเหนียวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ถ้าวัสดุมีความแข็งเพิ่มขึ้นในระหว่างการบ่มแข็ง จะส่งเสริมให้วัสดุมีความไวต่อการแตกเปราะเนื่องจากไฮโดรเจน (Hydrogen Embrittlement)
สมบัติด้านต่างๆ ของ 17-7PH ที่อุณหภูมิบ่มแข็งต่างๆ
 
ข้อดีของเหล็กกล้าไร้สนิมกลุ่มเพิ่มความแข็งโดยการตกตะกอน คือ ความสามารถในการเพิ่มความแข็งได้ด้วยกระบวนการทางความร้อน ซึ่งทำให้วัสดุสามารถตกแต่งทางกลได้ง่าย และหลังจากการตกแต่งทางกลหรือการแปรรูปด้วยวิธีการอื่น ยังสามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับชิ้นส่วนได้โดยการให้ความร้อนที่อุณหภูมิต่ำ โดยที่ชิ้นส่วนไม่เกิดการบิดเบี้ยว การอบชุบทางความร้อนนอกจากจะเพิ่มความแข็งแรงให้กับวัสดุแล้วยังช่วยลดความเค้นตกค้าง สำหรับการขึ้นรูปเย็นไม่แนะนำให้ทำหลังการบ่มแข็ง เนื่องจากหลังจากการบ่มแข็งวัสดุจะมีความแข็งแรงจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การอบชุบด้วยความร้อนหลังการเพิ่มความแข็งโดยการตกตะกอน อาจนำไปสู่การบ่มแข็งที่มากเกินไป (Excessive Over-aging)
ตารางเปรียบเทียบระหว่างเกรด 17-7PH และ A-286

เอกสารอ้างอิง:

[138]  http://www.smihq.org/public/publications/past_articles/jan06_zubek.pdf

[141]  M. Aghaie-Khafri, F. Adhami. Hot deformation of 15-5 PH stainless steel. Materials Science and Engineering: A 2010; 527(4-5): pp. 1052-7.

[146]  Samuels, Leonard. Metals Engineering: A Technical Guide. Editor: Carnes Publication Services Inc. ASM International, 1988, pp. 368-9.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การกัดกร่อนกับท่อทองแดงแบบรังมด (Ant-nest corrosion)

วันนี้มีเคสจากหน่วยงานขนส่งมวลแห่งหนึ่งแจ้งว่าท่อทองแดงในระบบเครื่องปรับอากาศเกิดการกัดกร่อนแล้วนำมาสู่การรั่วมาปรึกษา ผมจำได้ว่าเคยวิเคราะห...