การกัดกร่อนโดยจุลชีพ (Microbiologically Influenced Corrosion; MIC) หมายถึง การกัดกร่อนโดยมีจุลชีพเป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิด โดยจุลชีพจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเกิดการกัดกร่อนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แบคทีเรียที่อยู่ในดินสามารถไปเกาะผิวท่อที่ฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อแบคทีเรียไปอยู่รวมกันมาก ๆ เข้าจนกลายเป็นอาณานิคม (colonies) ย่อม ๆ ของพวกมัน เราก็จะพบเมือกลื่น ๆ เกาะอยู่ที่ผิวท่อ ซึ่งเมือกลื่น ๆ นี้ก็คือ ฟิล์มชีวภาพ (biofilms) ที่แบคทีเรียสร้างขึ้นมาป้องกันตนเองจากสภาพแวดล้อมและเพื่อเกาะติดพื้นผิววัสดุได้ดี เมื่อแบคทีเรียใน colonies กินและขับถ่ายของเสียซึ่งเป็นกรดและมีปริมาณซัลไฟด์ไอออนสูง ของเสียเหล่านี้ก็จะหมักหมมอยู่ใต้เมือกนั้นเอง ทำให้ใต้เมือกมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการกัดกร่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ลักษณะของแบคทีเรียแสดงในรูปที่ 1 ดังนั้นจึงมักพบบ่อย ๆ ว่า ใต้เมือกหรือใต้ชั้นวัตถุที่เป็นหรือเกิดจากของเสียจากแบคทีเรียนี้จะถูกกัดกร่อนจนเป็นหลุมลึกหรือเป็นรูทะลุเลยทีเดียว หากเราเช็ดเมือกหรือขัดคราบที่เกิดจากแบคทีเรียออกแล้ว ลักษณะของการกัดกร่อนก็จะคล้ายคลึงกับการกัดกร่อนแบบรูเข็ม (pitting corrosion) หรือการกัดกร่อนใต้รอยซ้อน (crevice corrosion) ดังรูปที่ 2
รูปที่ 1 ลักษณะของแบคทีเรีย
รูปที่ 2 การกัดกร่อนของท่อเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด AISI 316L ที่มีการกัดกร่อนจากจุลชีพร่วมด้วย
สำหรับเครื่องมือ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ในโรงงานซึ่งใช้งานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดการกัดกร่อนโดยจุลชีพ ได้แก่ บริเวณที่มีความชื้นสูง มีกระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ หรือน้ำนิ่ง มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ มีจุลชีพและสารอินทรีย์ที่เป็นอาหารปะปนอยู่ ตัวอย่างเช่น ท่อแลกเปลี่ยนความร้อนที่ใช้งานในอุณหภูมิต่ำ โดยใช้น้ำบาดาลตามธรรมชาติที่มักมีจุลชีพและสารอินทรีย์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาหารของจุลชีพปะปนมาด้วย ต้องมีมาตรการป้องกันให้ดี เพื่อจะได้ยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ เครื่องมือ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้นาน ๆ
มาตรการป้องกันก็มีหลายอย่าง เช่น เติมสารฆ่าจุลชีพลงไปในน้ำบาดาลหรือในบริเวณที่คิดว่ามีจุลชีพ ซึ่งอาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือบริษัทที่ขายสารเคมีเหล่านี้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีเหล่านี้ให้ถูกต้อง หรือระวังไม่ให้สารอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น น้ำมันปะปนในสภาพแวดล้อมที่อาจพบจุลชีพ หรือปรับสภาพการใช้งานให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น รวมถึงการป้องกันการกัดกร่อนด้วยวิธี cathodic protection ฯลฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น