วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เหล็กกล้าไร้สนิม (ตอนที่ 1) :บทนำ (Introduction of Stainless Steel)

ผมอยากถ่ายทดความรู้เรื่องเหล็กกล้าไร้สนิมที่เคยเขียนไว้นานแล้ว โดยเป็นการรวบรวมจาก paper ทางวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมากกว่า 100 บทความ ซึ่งผมจะมี reference ให้ในตอนท้ายของแต่ละตอน แม้อาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่คาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์พอสมควร โดยจะแบ่งออกเป็น 4 บท และผมจะทยอยนำมาลงเรื่อยๆ ถ้าท่านผู้อ่านพบข้อผิดพลาดหรืออยากเสริมจุดใด แจ้งมาที่ผมได้เลยนะครับ ซึ่งตอนแรกจะเสนอเรื่องบทนำของเหล็กกล้าไร้สนิม เชิญติดตามได้เลยครับ

บทนำ: เหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel)

ปัจจุบันเราจะเห็นเหล็กกล้าไร้สนิมปรากฏในรูปของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไปตามการประยุกต์ใช้งาน นับตั้งแต่การใช้งานพื้นฐาน เช่น เครื่องครัวและตกแต่งทั้งภายนอกและภายในบ้าน-อาคาร ไปจนถึงการใช้งานระดับสูง เช่น ชิ้นส่วนอากาศยาน [1-2] ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน เราจึงมองเห็นเหล็กกล้าไร้สนิมได้ทั่วไป คำว่า “เหล็กกล้าไร้สนิม” หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า “สเตนเลส” นั้น มาจากคำภาษาอังกฤษที่ว่า Stainless Steel โดยคำว่า steel แปลว่า เหล็กกล้า หมายถึง วัสดุที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบหลักและมีคาร์บอนเป็นธาตุผสมไม่เกิน 1.2% โดยน้ำหนัก [3] ส่วนคำว่า stainless ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง ปราศจากคราบ รอยเปื้อนหรือรอยด่างเกาะติด หรือไม่เกิดการกัดกร่อนในบรรยากาศที่เหล็กกล้าทั่วไปมักเกิด [4] แต่ถ้าจุดบกพร่องดังกล่าวเกิดขึ้นกับวัสดุประเภทเหล็กมักเรียกว่า “สนิม” ดังนั้นคำว่า “Stainless Steel” จึงแปลว่า เหล็กกล้าไร้สนิม ซึ่งมีความหมายตามศัพท์ว่า เหล็กกล้าที่ไม่เกิดสนิม ศัพท์ดังกล่าวยังไม่มีการบัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่มีการระบุเป็นมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) เช่น มอก. 2440-2552 [5]

สำหรับท่านที่ใช้งานเหล็กกล้าไร้สนิมอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะวิศวกรด้านการกัดกร่อนของโลหะ อาจเข้าใจว่าชื่อดังกล่าวเป็นแค่นามธรรมที่ใช้เรียกชื่อเหล็กกล้าชนิดนี้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดสนิมได้ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สามารถเกิดการกัดกร่อนที่สร้างความเสียหายได้ยิ่งกว่าคำว่า “สนิม” เสียอีก โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดการกัดกร่อนแบบเฉพาะที่ (Localized Corrosion) [6-10] ที่มีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเหนี่ยวนำ (Environmentally Induced) เช่น การกัดกร่อนตามขอบเกรน (Intergranular Corrosion) การแตกร้าวเนื่องจากความเค้นร่วมกับการกัดกร่อน (Stress Corrosion Cracking) การกัดกร่อนใต้รอยซ้อน (Crevice Corrosion) หรือ การกัดกร่อนแบบรูเข็ม (Pitting Corrosion) เป็นต้น เพราะว่าในปัจจุบันนี้ สิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรม มีความซับซ้อนและมีฤทธิ์กัดกร่อนค่อนข้างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่เหมือนกับสนิมที่เกิดขึ้นกับเหล็กกล้าคาร์บอน (Carbon Steel) ซึ่งเป็นการกัดกร่อนที่มีลักษณะสม่ำเสมอทั่วผิวหน้า (General Corrosion) และสามารถทำนายอายุการใช้งานหรืออัตราการกัดกร่อนได้ [11]

เหล็กกล้าไร้สนิมเป็นโลหะผสมที่คล้ายกับเหล็กกล้าผสม (Alloy Steel) ทั่วไป กล่าวคือ เกิดจากการหลอมรวมกันของธาตุต่างๆ ก่อนที่จะถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเหล็กเป็นส่วนผสมหลัก (Iron-based Alloys) และมีปริมาณโครเมียมผสมอยู่อย่างน้อย 10.5% [12-16] (หนังสือบางเล่มได้กล่าวว่าต้องมีโครเมียมอย่างน้อย 11% [17-18]) เพื่อใช้ในการสร้างฟิล์มที่มีสมบัติต้านทานการเกิดสนิม เหล็กกล้าไร้สนิมบางชนิดอาจมีโครเมียมผสมในปริมาณมากกว่า 30% (หรือมีเหล็กผสมในปริมาณที่ต่ำกว่า 50%) ซึ่งมีการเติมธาตุผสมอื่นๆ ลงไปเพื่อเพิ่มสมบัติบางประการ เช่น นิกเกิล โมลิบดีนัม ทองแดง ไทเทเนียม อะลูมิเนียม ซิลิคอน ไนโตรเจน ซัลเฟอร์ และเซลีเนียม ส่วนธาตุคาร์บอนจะถูกเติมลงไปในปริมาณไม่น้อยกว่า 0.03% แต่ไม่เกิน 1.2% (ในเกรด AISI 440) โลหะผสมบางชนิดมีปริมาณโครเมียมและนิกเกิลผสมในปริมาณสูงจะเรียกว่า โลหะผสมต้านทานความร้อน (Heat Resistant Alloy) [19] ทั้งนี้ธาตุผสมโดยรวมจะต้องมีปริมาณน้อยกว่าเหล็ก เพื่อให้โลหะผสมมีสมบัติที่เรียกว่า “เหล็กกล้า” [4] ซึ่งอิทธิพลของธาตุผสมต่างๆ จะแสดงรายละเอียดในลำดับถัดไป

ด้วยข้อจำกัดจำเพาะบางประการของเหล็กกล้าไร้สนิมแต่ละกลุ่ม จึงทำให้เหล็กกล้ามีความสามารถในการขึ้นรูปและแปรรูปด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป [18] บางชนิดสามารถผลิตและใช้งานในสภาพหลังการหล่อ (As-cast Condition) ซึ่งรูปร่างที่หลากหลายของผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถขึ้นรูปได้จากเทคนิคการขึ้นรูปโลหะผง (Powder-Metallurgy (P/M) Technique) ส่วนอินกอตจากการหล่อ (Cast Ingots) สามารถนำมารีด (Rolling) หรือทุบ (Forging) และผลิตภัณฑ์ที่เป็นแผ่น (Flat Products) สามารถผลิตได้จากการหล่อแบบต่อเนื่องจากเหล็กแท่งแบนที่ได้จากการหล่อ (Cast Slab) ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีดสามารถนำมาปั๊มหรือลากขึ้นรูป (Drawing) ดัด (Bending) ดึงผ่านแม่พิมพ์ (Extruding) หรือม้วน นอกจากนี้ เหล็กกล้าไร้สนิมยังสามารถขึ้นรูปด้วยการตกแต่งทางกล (Machining) และสามารถประกอบติดกันด้วยการเชื่อม (Welding) บัดกรีอ่อน (Soldering) บัดกรีแข็ง (Brazing) หรือแม้แต่การสร้างพันธะยึดติด (Adhesive Bonding) เช่น การทากาว บางครั้งเหล็กกล้าไร้สนิมยังสามารถใช้งานในลักษณะการประกบกัน (Integral Cladding) เช่น ประกบกับเหล็กกล้าคาร์บอนหรือเหล็กกล้าผสมต่ำ หรือแม้แต่กับโลหะนอกกลุ่มเหล็กและโลหะผสมบางชนิด ซึ่งตัวอย่างของผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าไร้สนิมที่มีรูปทรงเป็นท่อจากการดึงผ่านแม่พิมพ์แสดงในรูปที่ 1.1

รูปที่ 1.1 ผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กกล้าไร้สนิมที่มีฟิล์มโครเมียมออกไซด์ช่วยป้องกันการกัดกร่อน

บางท่านอาจเคยสงสัยว่าทำไมเหล็กกล้าเครื่องมือ (Tool Steel) บางชนิดมีโครเมียมผสมในปริมาณสูง (~10.5%) แต่ไม่มีสมบัติเป็นเหล็กกล้าไร้สนิม เหตุผลเนื่องจากมีปริมาณคาร์บอนมากเกินไป ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าธาตุผสมสองธาตุ คือ โครเมียมและคาร์บอน เป็นธาตุที่ทำให้เหล็กกล้าไร้สนิมมีความแตกต่างจากเหล็กกล้าละมุน (Mild Steel) และเป็นเหตุผลว่าทำไมเหล็กกล้ากลุ่มนี้มีสมบัติที่ไม่เกิดสนิม (Stainlessness) หรือต้านทานต่อการกัดกร่อน (Corrosion Resistance)

จากความเชื่อที่ว่าเหล็กกล้าไร้สนิมสามารถใช้งานได้ดีในทุกๆ สภาวะแวดล้อม โดยไม่เกิดการกัดกร่อนหรือเกิดสนิมนั้น เป็นความเชื่อที่เกิดจากการเข้าใจผิด เพราะในการใช้งานจริงแล้ว เหล็กกล้าไร้สนิมจะสามารถใช้งานได้ดีเฉพาะในสภาวะที่เหมาะสำหรับเกรดหรือชนิดนั้นๆ เท่านั้น แต่เมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป ก็สามารถเหนี่ยวนำให้เหล็กกล้าไร้สนิมเกิดการเสื่อมสภาพได้ ยกตัวอย่างเช่น เหล็กกล้าไร้สนิมออสเตนนิติกเกรด AISI 304 จะใช้งานได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่เป็นบรรยากาศทั่วไป แต่ถ้าถูกนำไปใช้งานในสภาวะแวดล้อมที่มีอิออนเฮไลด์ (ธาตุหมู่ 7) เจือปน มักส่งเสริมให้เกิดการกัดกร่อนแบบรูเข็ม [20-23] โดยความรุนแรงของแต่ละอิออนเรียงลำดับได้ดังนี้ คือ คลอไรด์ > โบรไมด์ > ไอโอไดด์ [24]
 
เอกสารอ้างอิง
[1] Abhay K. Jha, V. Diwaker, K. Sreekumar. Metallurgical investigation on stainless steel bellows used in satellite launch vehicle. Eng Fail Anal 2006; 13(8): pp. 1437-47.

[2] M. Hashimoto, Y. Miyamoto, Y. Kubo, S. Tokumaru, N. Ono, T. Takahashi, I. Ito. Surface modification of stainless steel in plasma environments. Mater. Sci. Eng: A 1995; 198(1-2): pp. 75-83.

[3] มนัส สถิรจินดา. เหล็กกล้า. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5 กันยายน 2543.

[4] K.H. Lo, C.H. Shek, J.K.L. Lai. Recent developments in stainless steels. Mater Sci Eng: R: Reports 2009; 65(4-6): pp. 39-104.

[5] http://www.app.tisi.go.th/notices/pdf/a2440-2552.pdf

[6] K.V.S. Ramana, T. Anita, Sumantra Mandal, S. Kaliappan, H. Shaikh, P.V. Sivaprasad, R.K. Dayal, H.S. Khatak. Effect of different environmental parameters on pitting behavior of AISI type 316L stainless steel: Experimental studies and neural network modeling. Materials & Design 2009; 30(9): pp. 3770-5.

[7] Hua Sun, Xinqiang Wu, En-Hou Han. Effects of temperature on the oxide film properties of 304 stainless steel in high temperature lithium borate buffer solution. Corrosion Science 2009; 51(12): pp. 2840-47.

[8] N. Parvathavarthini, S. Mulki, R.K. Dayal, I. Samajdar, K.V. Mani, Baldev Raj. Sensitization control in AISI 316L(N) austenitic stainless steel: Defining the role of the nature of grain boundary. Corrosion Science 2009; 51(9): pp.2144-50.

[9] J.M. Aquino, C.A. Della Rovere, S.E. Kuri. Intergranular corrosion susceptibility in supermartensitic stainless steel weldments. Corrosion Science 2009; 51(10): pp. 2316-23.

[10] S. Ningshen, U. Kamachi Mudali, G. Amarendra, Baldev Raj. Corrosion assessment of nitric acid grade austenitic stainless steels.Corrosion Science 2009; 51(2): pp. 322-9.

[11] M. Suresh Kumar, M. Sujata, M.A. Venkataswamy, S.K. Bhaumik. Failure analysis of a stainless steel pipeline. Eng Fail Anal 2008; 15(5): pp. 497-504.

[12] Ralph M. Corrosion of Stainless Steel. ASM Handbook, Vol.13, “Corrosion of Stainless Steel”, Corrosion and Its Prevention: pp.547-65.

[13] Leif Karlsson, 2004, “Stainless Steels Past, Present and Future”, Svetsaren, No.1, pp. 47-52.

[14] Denny A. Jones, Environmental Induced Cracking, Principles and Prevention of Corrosion, second ed., Prentice Hall International Inc., 1996 : pp. 513-6.

[15] Pierre-Jean Cunat. Alloying Elements in Stainless Steel and Other Chromium-Containing Alloys. Euro Inox 2004: pp.1-24.

[16] ATLAS SPECIALTY METALS, Technical Handbook of Stainless Steels.

[17] M. G. Fontana, Corrosion Engineering, third ed., New York, McGraw-Hill, 1967: 226-36.

[18] General introduction. Introduction to stainless steel, ASM Handbook : 3-12.

[19] A. Ul-Hamid, A.I. Mohammed, S.S. Al-Jaroudi, H.M. Tawancy, N.M. Abbas. Evolution of oxide scale on a Ni–Mo–Cr alloy at 900 °C. Materials Characterization 2007; 58(1): pp. 13-23.

[20] Magdy A.M. Ibrahim, S.S. Abd El Rehim, M.M. Hamza. Corrosion behavior of some austenitic stainless steels in chloride environments. Materials Chemistry and Physics 2009; 15(1): pp. 80-5.

[21] Takatoshi Yamamoto, Koji Fushimi, Masahiro Seo, Shiro Tsuri, Tetsuo Adachi, Hiroki Habazaki. Depassivation–repassivation behavior of type-312L stainless steel in NaCl solution investigated by the micro-indentation. Corrosion Science 2009; 51(7): pp. 1545-53.

[22] K.V.S. Ramana, T. Anita, Sumantra Mandal, S. Kaliappan, H. Shaikh, P.V. Sivaprasad, R.K. Dayal, H.S. Khatak. Effect of different environmental parameters on pitting behavior of AISI type 316L stainless steel: Experimental studies and neural network modeling. Materials & Design 2009; 30(9): pp. 3770-5.

[23] N. Parvathavarthini, S. Mulki, R.K. Dayal, I. Samajdar, K.V. Mani, Baldev Raj. Sensitization control in AISI 316L(N) austenitic stainless steel: Defining the role of the nature of grain boundary. Corrosion Science 2009; 51(9): pp. 2144-50.

[24] M. Kaneko, H. S. Isaacs. Pitting of stainless steel in bromide, chloride and bromide/chloride solutions. Corrosion Science 2000; 42(1): pp. 67-78.

[25] S. Zor, M. Soncu, L. Çapan. Corrosion behavior of G-X CrNiMoNb 18-10 austenitic stainless steel in acidic solutions. Journal of Alloys and Compounds 2009; 480(2): pp. 885-8.

4 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากๆเลยครับ
    ตาสว่างขึ้นเยอะ
    จะติดตามอ่านไปเรื่อยๆนะครับ

    ตอบลบ
  2. ยินดีครับ ตอนนี้มีเกือบ 20 ตอนแล้วนะครับ

    ตอบลบ
  3. ตอนนี้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง passive film ใน SS อยู่ค่ะ
    เปงโปรเจ็คที่ทำอยู่ ปวดสมองมาก บทความนี้ช่วยได้เยอะ
    ไม่ทราบว่าถ้าอยากได้ข้อมูลเยอะๆ ดีๆ แน่นๆ สามารถปรึกษาได้มั้ยค่ะ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ4 กันยายน 2564 เวลา 14:28

    ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ

การกัดกร่อนกับท่อทองแดงแบบรังมด (Ant-nest corrosion)

วันนี้มีเคสจากหน่วยงานขนส่งมวลแห่งหนึ่งแจ้งว่าท่อทองแดงในระบบเครื่องปรับอากาศเกิดการกัดกร่อนแล้วนำมาสู่การรั่วมาปรึกษา ผมจำได้ว่าเคยวิเคราะห...