วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

สมศ.ประเมินมหาวิทยาลัยรอบ2ม.วิจัย"มทม.มทส."แซง"จุฬาฯ"

คมชัดลึก : http://www.komchadluek.net/detail/20090910/27884/สมศ.ประเมินมหาวิทยาลัยรอบ2ม.วิจัยมทม.มทส.แซงจุฬาฯ.html

สมศ.เผยผลการประเมินมหาวิทยาลัย รอบ 2 ไม่รับรอง 16 แห่ง จาก 202 แห่ง ประเภทมหาวิทยาลัยวิจัย คะแนนมหาวิทยาลัยเอกชนนำมหาวิทยาลัยรัฐ อย่างจุฬาฯ แนะควรเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเอกชนเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สาขายอดฮิต ทั้งมนุษยศาสตร์ บริหาร หลักสูตรไม่ผ่านเพียบ พบใน 29 มหาวิทยาลัยต้องมีอย่างน้อย 1 หลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐาน แนะปรับปรุงด่วนหวั่นกระทบปัญหาเรื่องคุณภาพบัณฑิต


เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่อาคารพญาไท พลาซ่า ศ.เกียรติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) (องค์การมหาชน) แถลงข่าวผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 2 ระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2549-2551 ว่าจากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 2 ซึ่งประเมินมหาวิทยาลัยทั้งหมด 202 แห่ง พบว่า มีมหาวิทยาลัยที่ผ่านการประเมิน 186 แห่ง ไม่ผ่านการรับรอง มีทั้งหมด 16 แห่ง แบ่งเป็นไม่รับรอง 6 แห่ง และมหาวิทยาลัยที่รอพินิจ 10 แห่ง

โดยแบ่งตามประเภทมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเน้นการผลิตบัณฑิตและวิจัย จำนวน 23 แห่ง โดยผ่านระดับดีมาก 11แห่ง ได้แก่ ม.เทคโนโลยีมหานคร ได้ 4.86, ม.เทคโนโลยีสุรนารี 4.76, ม.อุบลราชธานี 4.70, ม.ธรรมศาสตร์ 4.67, ม.สงขลานครินทร์ 4.65, ม.ขอนแก่น 4.62, จุฬาฯ 4.62, ม.เกษตรศาสตร์ 4.57, ม.นเรศวร 4.56, ม.เชียงใหม่ 4.53, ม.มหิดล 4.53

และระดับดี 12 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า 4.36, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 4.35, ม.แม่โจ้ 4.34, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 4.33, ม.มหาสารคาม 4.27, ส.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 4.27, ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 4.20, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 4.19, ม.ศิลปากร 4.11, ม.ชินวัตร 3.86, ม.คริสเตียน 3.83, ม.บูรพา 3.80 โดยทั้ง 23 แห่งผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สมศ.

ศ.เกียรติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า จากผลการประเมิน เป็นที่น่าสังเกตว่า ม.เทคโนโลยีมหานคร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน กลับได้คะแนนในระดับดีมากในกลุ่มของมหาวิทยาลัยวิจัย ซึ่งแตกต่างจากมหาวิทยาลัยรัฐ หรือมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ อีกทั้ง ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ กลับอยู่ในระดับดี จึงอยากให้ รมว.ศึกษาธิการ ลองพิจารณาให้การสนับสนุนงบวิจัยกับมหาวิทยาลัยเอกชน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในสังคม เพราะเอกชนลงทุนเพื่อการศึกษา ส่วนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งมีคะแนนสูงกว่ามหาวิทยาลัยเก่าชื่อดัง น่าจะเป็นเพราะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ บุคลากรเป็นคนหนุ่มสาวที่มีไฟ

ส่วนมหาวิทยาลัยเก่า ก็อาจจะไม่ฟิตเท่า หรือมีไขมันมาก นอกจากนี้การขยายวิทยาเขตใหม่ๆ ก็เป็นตัวฉุดให้คะแนนของมหาวิทยาลัยเก่า เพราะเท่ากับเป็นการเริ่มต้นใหม่ อย่างเช่น ม.ศิลปากร และมศว เมื่อพิจารณาหลักสูตรและการเรียนการสอนระดับดีมาก 6 แห่ง ระดับดี 15 แห่ง และระดับพอใช้ 2 แห่ง โดยเฉพาะในส่วนของมศว ผลการประเมินของสมศ.ตรงกับการประเมินคุณภาพภายในของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่อยู่ในระดับพอใช้เช่นกัน

2.กลุ่มเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาสังคม มี 101 แห่ง พบว่า ได้รับการรับรอง 98 แห่ง รอพินิจ 2 แห่ง และไม่ผ่านการประเมิน 1 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยที่ได้ในคะแนนระดับดีมาก มีเพียง 26 แห่ง ระดับดี 74 แห่ง และควรปรับปรุง 1 แห่ง 3.กลุ่มเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม มีทั้งหมด 15 แห่ง พบว่า ได้รับการรับรอง 13 แห่ง รอพินิจ 2 แห่ง และทั้ง 15 แห่ง ได้คะแนนประเมินในระดับดี 4.กลุ่มเน้นการผลิตบัณฑิต มี 63 แห่ง พบว่า ได้รับการรับรอง 52 แห่ง รอพินิจ 6 แห่ง และไม่รับรอง 5 แห่ง

ทั้งนี้ หากแบ่งเป็นกลุ่มสาขาวิชา แบ่งเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2.กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ 3.กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ 4.กลุ่มสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ 5.กลุ่มสาขาเกษตรศาสตร์ 6.กลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ การบัญชี การจัดการ การท่องเที่ยว และเศรษฐศาสตร์ 7.กลุ่มสาขาวิชาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 8.กลุ่มสาขาวิชาศิลปกรรม วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ 9.กลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ10.กลุ่มสาขาวิชาสหวิทยาการ ซึ่งกลุ่มสาขาที่มีมหาวิทยาลัยเปิดสอนเยอะที่สุด คือกลุ่มที่ 6 สาขาบริหารธุรกิจฯ และเป็นกลุ่มที่สมศ.ไม่รับรองมากที่สุด ถึง 14 สาขา

รองลงมา คือกลุ่มที่ 9 สาขามนุษยศาสตร์ฯ ไม่รับรอง14 สาขา จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มสาขาที่สมศ.ไม่รับรองมีการเปิดการเรียนการสอนจำนวนมากในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับปรุงหลักสูตรสาขาวิชา 3 กลุ่มสาขาที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน ได้แก่ 1.สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 2.สาขาวิชาบริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ การบัญชี การจัดการ การท่องเที่ยว และเศรษฐศาสตร์ และ3.สาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ ไม่งั้นจะกระทบต่อคุณภาพของบัณฑิตที่จบออกไปจากสถาบันดังกล่าว

ผอ.สมศ.กล่าวอีกว่า รายละเอียดของผลการประเมินดังกล่าว สมศ.ได้ประกาศต่อสาธารณชนทางเว็บไซต์ของ สมศ. และสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งที่ได้รับการรับรองและไม่ได้รับการรับรองจากสมศ. ก็ยอมรับผลการประเมินของ สมศ. ทั้งนี้ในส่วนของสถาบันที่รอการพินิจ 10 แห่ง จะกลับไปปรับปรุงพัฒนาภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี และเข้ารับการประเมินจาก สมศ.อีกครั้ง ส่วนที่ไม่ผ่านการรับรอง 6 แห่ง ได้เสนอสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้เข้าไปช่วยพัฒนาปรับปรุงอีก 2 ปี ซึ่งจะสามารถเข้ารับการประเมินอีกครั้งในรอบที่สาม ในปี 2554 ในส่วนขณะที่มหาวิทยาลัยใน 29 สถาบันอุดมศึกษา ใน 202 แห่ง ที่สมศ.ประเมินพบว่า มีอย่างน้อย 1 กลุ่มสาขาวิชาที่สมศ.ไม่รับรอง

“ผลการประเมินมหาวิทยาลัยรอบ 2 หากเปรียบเทียบกับรอบแรกนั้นทางด้านงานวิจัย ถือว่ามหาวิทยาลัยยังไม่ได้มีการพัฒนาอย่างชัดเจน ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาอยู่ในระดับดีขึ้นมาเล็กน้อย ประกันคุณภาพภายในดีขึ้นกว่าเดิม การทำนุบำรุงดีมากขึ้น ดังนั้น ทำให้เห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีการพัฒนา แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัย และทุกสาขาวิชาควรจะผ่านการรับรองจากสมศ.ทั้งหมด เพราะการประเมินของสมศ.นั้นใช้เกณฑ์ขั้นต่ำที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทของมหาวิทยาลัย” ศ.เกียรติคุณ ดร.สมหวังกล่าว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การกัดกร่อนกับท่อทองแดงแบบรังมด (Ant-nest corrosion)

วันนี้มีเคสจากหน่วยงานขนส่งมวลแห่งหนึ่งแจ้งว่าท่อทองแดงในระบบเครื่องปรับอากาศเกิดการกัดกร่อนแล้วนำมาสู่การรั่วมาปรึกษา ผมจำได้ว่าเคยวิเคราะห...