วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

การศึกษาผิวหน้าแตกหัก (Fractography)

 หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ

 

หลักการและเหตุผล

เมื่อชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ทางวิศวกรรมได้รับความเสียหายจากการกระทำของแรงทางกลจนนำไปสู่การแตกหัก การศึกษาผิวหน้าแตกหัก (Fractography) ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์มักถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความเสียหายของชิ้นส่วนร่วมกับศาสตร์อื่นๆ เนื่องจากผิวหน้าแตกหักของชิ้นงานมีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักวิเคราะห์ความเสียหาย โดยบนผิวหน้าแตกหักมีรายละเอียดมากมายที่สามารถบ่งบอกถึงสาเหตุของการเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ทิศทางการขยายตัวของรอยแตก ระยะเวลา แรงและทิศทางที่กระทำกับชิ้นงาน และจากข้อมูลที่ได้มีการรวบรวมกันไว้ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบว่าการแตกหักเสียหายจากการล้า (Fatigue Failure) เป็นรูปแบบการเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรกลและโครงสร้างต่างๆ ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ของการเสียหายจากการแรงทางกล ดังนั้นผิวหน้าแตกหักจากการล้าจึงเป็นหัวข้อที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

เป้าหมายหลักของการวิเคราะห์ผิวหน้าแตกหักคือ การหาจุดเริ่มรอยแตก แล้วไปขยายผลซึ่งจะได้รับทราบรากของปัญหาทางวัสดุ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าตรงไหนเป็นจุดเริ่มรอยแตก? แล้วจะไปขยายผลอย่างไร? มีหลายครั้งที่การอธิบายกลไกการแตกหักอาจค่อนข้างยุ่งยากแต่ท้าทายเนื่องจากความหลากหลาย/สลับซับซ้อนของวัสดุ สภาวะ/เงื่อนไขการรับแรง และสิ่งแวดล้อม และบ่อยครั้งที่คุณลักษณะที่น่าสนใจบนผิวหน้าแตกหักถูกบดบังหรือถูกทำลายบางส่วนจากการเสียดสีหรือกัดกร่อน (จากการทิ้งไว้นาน) ท่านไม่ต้องหนักใจ หลักสูตรนี้มีคำตอบ เนื่องจากการอบรมนี้ได้การออกแบบมาเพื่อให้เข้าใจเชิงปฏิบัติของการวิเคราะห์ผิวหน้าแตกหักผ่านการผสมผสานระหว่างการบรรยายและประสบการณ์ตรงของทีมงานที่สะสมมามากกว่า 20 ปี ทฤษฎีและตัวอย่างที่นำเสนอในการบรรยายจะมีทั้งการตรวจสอบจากชิ้นส่วนที่เสียหายในห้องปฏิบัติการทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค การตรวจด้วยสายตารวมถึงการใช้กล้องจุลทรรศน์สเตอริโอจะช่วยยืนยันรูปแบบการแตกหัก (Fracture modes) และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) จะถูกนำมาใช้เพื่อยืนยันกลไกการแตกหัก (Fracture mechanism) ของตัวอย่างที่เสียหาย และสำหรับภาคปฏิบัติที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงโดยมีการสนับสนุนเครื่องมือในการตรวจผิวแตกจากบริษัทเอกชน

 

วัตถุประสงค์

           การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ร่วมสัมมนา

1.       มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเสียหายของโลหะที่มีการแตกหักเกิดขึ้น

2.       ทราบความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลกระทบที่สำคัญของการแตกหักของโลหะ

3.       เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะผิวหน้าแตกหักกับสาเหตุการแตกหักของโลหะ

4.       ทราบแนวทางในการวิเคราะห์ผิวหน้าแตกหักตามหลักปฏิบัติที่เป็นสากล

5.       สามารถแยกแยะรูปแบบผิวหน้าแตกหักจากลักษณะที่ปรากฏบนผิวหน้าแตกหัก

6.       สามารถหาจุดเริ่มต้นรอยแตกเพื่อขยายผลเชิงลึกได้

7.       สามารถนำเสนอและถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นได้

รูปแบบกิจกรรม

-          อบรมภาคทฤษฏีเชิงประยุกต์

คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการอบรม

-          ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรมวัสดุ เครื่องกล โลหการ ที่หรือสาขาที่ใกล้เคียง

-          ผู้ที่ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมต่างๆ และผู้ที่สนใจทั่วไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การล้างผิวเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยกรด (Pickling) และการสร้างฟิล์ม (Passivation)

Image credit: https://www.safefoodfactory.com/en/editorials/54-pickling-and-passivating-stainless-steel/ เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดการกัดกร่...