วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เหล็กกล้าไร้สนิม (ตอนที่ 24): เหล็กกล้าไร้สนิมกลุ่มเพิ่มความแข็งโดยการตกตะกอน (Precipitation Hardened Stainless Steels)


กระบวนการทางโลหะวิทยาที่อาศัยความสามารถในการละลายที่น้อยลงของธาตุผสม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับโลหะผสมด้วยวิธีการที่เรียกว่า การแข็งขึ้นโดยการตกตะกอน (Precipitation Hardening) เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ใช้ในการพัฒนาโลหะผสมที่มีความแข็งแรงสูงพิเศษ (Ultrahigh-strength Alloys) [137] กระบวนการดังกล่าวถูกค้นพบโดยบังเอิญในระหว่างการศึกษาโลหะผสมอะลูมิเนียม-ทองแดง โดยนักโลหะวิทยาชาวเยอรมัน ชื่อ อัลเฟรด ไวล์ม ในปี ค..1906 โดยเรียกโลหะผสมดังกล่าวว่า “Duralumin” [138] หลังจากการค้นพบดังกล่าว ได้ใช้เวลาประมาณ 15 ปี ในการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับกลไกการแข็งขึ้นโดยการตกตะกอน จนทำให้สามารถพัฒนาและผลิตโลหะผสมของอะลูมิเนียมที่มีความแข็งแรงสูงขึ้นมาได้ จึงสามารถกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมอากาศยานสมัยใหม่ได้พัฒนาขึ้นจากการค้นพบปรากฏการณ์ดังกล่าว จากนั้นจึงได้นำไปประยุกต์ใช้กับโลหะหลายชนิด เช่น โลหะผสมนิกเกิล โลหะผสมทองแดง โละผสมไทเทเนียม รวมถึงเหล็กกล้าไร้สนิม

เหล็กกล้าไร้สนิมกลุ่มเพิ่มความแข็งโดยการตกตะกอน ถูกพัฒนาครั้งแรกในราวปี ค..1940 [139] และหลังจากนั้น ได้มีการพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย เนื่องจากมีสมบัติที่พิเศษหลายด้าน สมบัติที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของเหล็กกล้าไร้สนิมกลุ่มนี้ คือ แปรรูปได้ง่าย มีความแข็งแรงสูง มีความเหนียวค่อนข้างดี มีความต้านทานการกัดกร่อนดีเยี่ยม [140-141] มีอัตราการบิดเบี้ยวต่ำ และมีความสามารถในการเชื่อมดีเยี่ยม [142] ซึ่งเป็นสมบัติที่ดีร่วมกันระหว่างเหล็กกล้าไร้สนิมมาร์เทนซิติกและออสเตนนิติก กล่าวคือ สามารถทำให้แข็งขึ้นได้ด้วยกระบวนการทางความร้อนคล้ายกับเหล็กกล้าไร้สนิมมาร์เทนซิติก ในขณะเดียวกันก็มีสมบัติความต้านทานการกัดกร่อนที่ดีคล้ายกับเหล็กกล้าไร้สนิมออสเตนนิติก [143] จากสมบัติที่สามารถแปรรูปได้ง่าย จึงสามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรูปร่างหลากหลาย เช่น แท่ง เส้นลวด แผ่น ชิ้นส่วนตีขึ้นรูป ผลิตภัณฑ์หล่อ ผลิตภัณฑ์โลหะผง และผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ เป็นต้น

เหล็กกล้าไร้สนิมกลุ่มเพิ่มความแข็งโดยการตกตะกอน เป็นโลหะผสมชนิดที่มีโครเมียมและนิกเกิลเป็นธาตุผสมหลัก สามารถทำให้แข็งขึ้นได้โดยกระบวนการทางความร้อน ดังนั้นจึงมีความต้านทานแรงดึงสูงมาก ทั้งนี้เกิดจากการตกตะกอนของสารประกอบในโครงสร้างพื้นฐานแบบมาร์เทนซิติกและออสเตนนิติก โดยธาตุผสมที่เพิ่มความแข็งแรงด้วยการตกตะกอนเป็นเฟสเชิงโลหะในระหว่างการบ่มด้วยความร้อน (Aging Treatment) ได้แก่ อะลูมิเนียม ไทเทเนียม ทองแดง โมลิบดีนัม และไนโอเบียม [18, 143-144] ยกตัวอย่าง เช่น เกรด 17-4 PH ที่มีการเติมทองแดงเพื่อเพิ่มความแข็งหลังการบ่ม และเติมไนโอเบียมเพื่อจับตัวกับคาร์บอน (Carbon Stabilized) เกรด Custom 455 มีการเติมไทเทเนียม เกรด PH 13-8 Mo มีการเติมอะลูมิเนียม และเกรด Custom 450 ที่มีการเติมไนโอเบียม และเติมโมลิบดีนัมเพื่อเพิ่มสมบัติทางกลและความต้านทานการกัดกร่อน

เอกสารอ้างอิง

[137] Z. Guo, W. Sha. Thermodynamic calculation for precipitation hardening steels and titanium aluminides. Intermetallics 2002; 10(10): pp. 945-50.

[138]  http://www.smihq.org/public/publications/past_articles/jan06_zubek.pdf

[140]  C. N. Hsiao, C. S. Chiou, J. R. Yang. Aging reactions in a 17-4 PH stainless steel. Materials Chemistry and Physics 2002; 74(2): pp. 134-42.

[141]  M. Aghaie-Khafri, F. Adhami. Hot deformation of 15-5 PH stainless steel. Materials Science and Engineering: A 2010; 527(4-5): pp. 1052-7.

[142]  www.aalco.co.uk/.../Aalco_Datasheet_St_St_Precipitation_Hardening.pd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การกัดกร่อนกับท่อทองแดงแบบรังมด (Ant-nest corrosion)

วันนี้มีเคสจากหน่วยงานขนส่งมวลแห่งหนึ่งแจ้งว่าท่อทองแดงในระบบเครื่องปรับอากาศเกิดการกัดกร่อนแล้วนำมาสู่การรั่วมาปรึกษา ผมจำได้ว่าเคยวิเคราะห...