วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

การวิเคราะห์ผิวหน้าแตกหัก (Fractography)

สวัสดีครับ สำหรับซีรี่ส์ใหม่นี้ผมจะนำเสนอเกี่ยวกับศาสตร์ของการวิเคราะห์ผิวหน้าแตกหัก (Fracture surface analysis) โดยจะนำเสนอเป็นเรื่องหรือตอนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ บทนำ ลักษณะที่ปรากฏต่างๆ และอาจมีกรณีตัวอย่างมาให้ชมกันด้วย สำหรับตอนนี้ จะให้ท่านทราบความหมายของคำว่า แตกหัก (Fracture) และการวิเคราะห์ผิวหน้าแตกหัก (Fractography) กันก่อน
ภาพที่ 1 ผิวหน้าการแตกหักที่สามารถบอกหรือเขียนอธิบายเป็นเรื่องได้มากกว่าพันคำ

การแตกหัก (Fracture) คือ "การแตกหักออกจากกันเป็น 2 ชิ้นหรือมากกว่าของชิ้นส่วน จากการกระทำของความเค้นจนไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่ออกแบบไว้ได้อีกต่อไป" ซึ่งในชีวิตประจำวันของเรา คงเคยเห็นการแตกหักกันมาบ้าง ใครที่เคยวิเคราะห์หรือมีความรู้ด้านการวิเคราะห์ผิวแตก เมื่อเห็นภาพที่ 1 ด้านบน ก็สามารถบอกได้เลยว่า การแตกนั้นเป็นรูปแบบใด เกิดจากแรงกระทำแบบใด ใช้เวลามากน้อยเพียงใด เป็นต้น การแตกหักบางครั้งไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก (ภาพที่ 2) เช่น การแตกหักของเพลาขนาดใหญ่ แต่ถ้าเป็นชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กก็อาจนำกลับมาใช้งานได้อีก โดยนำมาเชื่อมต่อกัน แต่แน่นอนว่า สมบัติย่อมเสื่อมลงไป แต่ผมขอยกตัวอย่างการแตกหักบางอย่างที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก เช่น แข้งของมนุษย์ (ภาพที่ 3) ซึ่งทุกวันนี้ดารากองหน้าชาวฝรั่งเศสได้กลับมาโลดแล่นในสนามฟุตบอลได้แล้ว
ภาพที่ 2 การแตกหักของเพลา ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะนำกลับมาใช้งานได้อีก


เมื่อวัสดุเกิดการแตกหัก ศาสตร์แห่งการวิเคราะห์ผิวหน้าแตกหัก (fractography) จะถูกนำมาใช้ในการค้นหาจุดเริ่มต้นของการแตก (fracture origin) ทิศทางการขยายตัว (direction of crack propagation) กลไกการเสียหาย (failure mechanism) จุดบกพร่องของวัสดุ (material defects) การทำปฏิกิริยากับสิ่งแวดล้อม (environmental interaction) และรูปแบบของแรงที่กระทำ (nature of stresses)


ลักษณะทางมหภาคและจุลภาค (macroscopic and microscopic) ที่ได้จากการตรวจสอบโดยนักวิเคราะห์ความเสียหาย (failure analyst) จะถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุการแตกหักของโลหะ


ภาพที่ 3 การแตกหักของกระดูกซึ่งสามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดการเชื่อมประสานโดยธรรมชาติ

การบัญญัติศัพท์ของคำว่า fractography ก็คล้ายกับการเริ่มใช้คำว่า metallography นั่นคือ คำว่า fracto มาจากภาษาลาติน คือ fractus หมายถึง การแตกหัก และคำว่า graphy มาจากภาษากรีก คือ grapho หมายถึง การอธิบายหรือพรรณนา ดังนั้น Fractography จึงควรหมายถึง การอธิบายผลที่ได้จากการตรวจสอบผิวหน้าแตกหักของวัสดุจากภาพถ่าย

แล้วค่อยเจอกับตอนหน้า ซึ่งอาจมีคำถามชิงรางวัลมาเล่นกันสนุกๆ ด้วย.....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การล้างผิวเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยกรด (Pickling) และการสร้างฟิล์ม (Passivation)

Image credit: https://www.safefoodfactory.com/en/editorials/54-pickling-and-passivating-stainless-steel/ เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดการกัดกร่...