วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การกัดกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบของล้ออะลูมิเนียม (Filiform Corrosion on Aluminum Wheels)



ล้อแม็กที่เกิดการกัดกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบ

โลหะผสมอะลูมิเนียม (Aluminum alloys) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไปจะมีธาตุอะลูมิเนียม (Al) เป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากนั้นยังมีการเจือของธาตุอื่นๆ เพิ่มสมบัติด้านต่างๆ เช่น ทองแดง สังกะสี ดีบุก เหล็ก แมกนีเซียม แมงกานีส โครเมียม ไทเทเนียม และซิลิคอน เป็นต้น และมีส่วนผสมแตกต่างกันออกไปตามการใช้งาน

ส่วนผสมของโลหะผสมอะลูมิเนียมต่างๆ ได้รับการจดทะเบียนและมีการกำหนดการใช้งานเป็นหมายเลขอนุกรมหรือเป็นชุดที่เป็นสากล (International Alloy Designation System) โดยสมาคมอะลูมิเนียมของอเมริกา ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดมาตรฐานการใช้งานของอะลูมิเนียมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและใช้กันทั่วโลก

ยกตัวอย่าง เช่น อะลูมิเนียมในอนุกรม 6000 เป็นโลหะผสมที่มีแมกนีเซียมและซิลิคอนเป็นส่วนผสม โดยแมกนีเซียมจะเพิ่มความแข็งแรง ในขณะที่ซิลิคอนจะช่วยเพิ่มความสามารถในการหล่อ (ทั้งเรื่องเพิ่มความสามารถในการไหลของโลหะหลอมเหลว, ลดอุณหภูมิหลอมเหลวและลดการหดตัวในระหว่างการแข็งตัว) โลหะผสมของอะลูมิเนียมจะถูกเลือกใช้งานบนพื้นฐานความต้องการด้านวิศวกรรมในด้านต่างๆ เช่น ความต้านทานแรงดึง ความสามารถในการใช้งานนั้นๆ ความสามารถในการขึ้นรูป และความต้านทานการกัดกร่อน เป็นต้น

จากข้อมูลทางเทอร์โมไดนามิกส์ชี้ให้เห็นว่าอะลูมิเนียมค่อนข้างจะเกิดการกัดกร่อนได้ง่ายเมื่อเทียบกับโลหะชนิดอื่นๆ เช่นมีความไวต่อการทำปฏิกิริยามากกว่าเหล็กค่อนข้างมาก แต่อะลูมิเนียมสามารถสร้างฟิล์มที่มีความหนา มีสมบัติการยึดเกาะที่ดีและต้านทานการกัดกร่อนขึ้นมาปกคลุมที่ผิวหน้าได้ ซึ่งต่างจากเหล็กที่มีฟิล์มออกไซด์ (Fe2O3) แต่จะหลุดล่อนออกเป็นแผ่นๆ และจะเกิดการกัดกร่อนแบบวัฏจักรจนสูญเสียความหนาไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามอะลูมิเนียมก็ไม่สามารถหลีกหนีการกัดกร่อนไปได้ถ้าอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม นอกจากนี้โลหะที่ผสมหรือเติมลงไปเพื่อเพิ่มคุณสมบัติด้านต่างๆ ก็สามารถส่งเสริมให้เกิดการกัดกร่อนได้เป็นอย่างดี ซึ่งโลหะผสมอะลูมิเนียมสามารถเสียหายด้วยการกัดกร่อนหลากหลายรูปแบบ เช่น การกัดกร่อนแบบรูเข็ม (Pitting corrosion) การกัดกร่อนตามขอบเกรน (Intergranular corrosion) และการกัดกร่อนภายใต้รอยอับอากาศ (Crevice corrosion) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการกัดกร่อนอีกรูปแบบหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับชิ้นส่วนอะลูมิเนียมที่มีการเคลือบผิว เราเรียกรูปแบบการกัดกร่อนนั้นว่า การกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบ (Filiform corrosion)

การกัดกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบ (Filiform corrosion) ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการกัดกร่อนภายใต้รอยอับหรือบริเวณที่อับอากาศ (Crevice corrosion) โดยนอกจากจะพบภายใต้ผิวเคลือบบางๆ บนโลหะประเภทอะลูมิเนียมที่ใช้ในการผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม และล้อแม็ก และยังสามารถพบในเหล็กกล้าที่มีการเคลือบผิวได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการกัดกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า

การกัดกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบมักเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในช่วง 75-90 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิในช่วง 20-45 องศาเซลเซียส ซึ่งความชื้นเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้มีการขยายตัวของการกัดกร่อนเนื่องจากเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการละลายไอออนของเกลือ

โดยทั่วไปแล้วการกัดกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบมักเริ่มต้นจากบริเวณที่มีรอยขีดข่วนหรือจุดบกพร่องอื่นๆ บนผิวเคลือบ และขยายตัวออกไปบริเวณด้านข้างเป็นเส้นแคบๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีร่องรอยการขูดขีด หรือรอยบกพร่องจากการเคลือบที่ไม่สนิท การกัดกร่อนแบบนี้มีผลให้สภาพผิวของชิ้นงานเกิดความเสียหายไปเท่านั้น แต่จะไม่ทำลายหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้าง (วัสดุ)  การขยายตัวของการกัดกร่อนเข้าไปในโลหะจะน้อยมาก (ประมาณ 15 ไมครอน) ผลิตภัณฑ์การกัดกร่อนประกอบไปไปด้วยส่วนหัว (Head) จะมีลักษณะเป็นหนอนสีขาว เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ และส่วนหาง (Tail) หรือเส้นที่แตกออกเป็นกิ่งก้านสาขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าส่วนหัวเป็นบริเวณที่อับอากาศ (มีออกซิเจนในปริมาณต่ำ) และส่วนหางเป็นบริเวณที่มีอากาศ (มีออกซิเจน) มากกว่า

กลไกของการกัดกร่อนจะเป็นเซลเคมีไฟฟ้าของแอโนด-แคโธด โดยส่วนหัวจะแสดงตัวเป็นเป็นขั้วแอโนด ในขณะที่ส่วนหางจะแสดงตัวเป็นขั้วแคโธด ออกซิเจนจะถูกใช้จนหมดบริเวณที่เป็นส่วนหัวของผลิตภัณฑ์การกัดกร่อน ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำและเพิ่มความเป็นกรด จนมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ที่อาจต่ำกว่า 2 การกัดกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบจะเกิดขึ้นได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีองค์ประกอบของไฮโดรเจน (H+) คลอรีน ซัลเฟต ซัลไฟด์ หรือคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเพิ่มความเป็นกรดระหว่างการเกิดความแตกต่างของปริมาณออกซิเจน ในส่วนหางซึ่งเกิดปฏิกิริยาแคโธดิกจะสร้าง hydroxyl ions ปฏิกิริยาที่เกิดบริเวณส่วนหัวซึ่งเป็นปฏิกิริยาแอโนดคือการเกิดออกซิเดชั่นของอะลูมิเนียมไปเป็น Al3+ และจากนั้นจะไปทำปฏิกิริยากับ hydroxide ions ของส่วนหาง โดยเฉพาะสภาวะที่มีน้ำและออกซิเจนแทรกตัวเข้าไปตามจุดบกพร่องที่เป็นรูพรุนและรอยแตกขนาดเล็กของผิวเคลือบ การกัดกร่อนที่เกิดขึ้นทำให้ได้ผลิตภัณฑ์การกัดกร่อนที่มีลักษณะคล้ายหนอนที่มองเห็นเป็นสีขาวๆ ขยายตัวไปเรื่อยๆ บนผิวหน้าซึ่งมีอัตราในการขยายตัวประมาณ 0.1 มม/วัน
กลไกการกัดกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบของอะลูิเนียมผสม 
(source:Exponent Engineering and Scientific Consulting)

การกัดกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบ นอกจากจะพบในล้อแม็ก ยังสามารถพบภายใต้ผิวเคลือบบางๆ บนโลหะประเภทเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมที่ใช้ในการผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนรถยนต์และอากาศยาน ซึ่งกลไกการเกิดและแนวทางในการป้องกันก็คล้ายกับล้อรถยนต์อะลูมิเนียม
Filiform corrosion of a tin-coated 
(source:https://www.flickr.com/photos/mmm_beer/380209965/in/photostream/)


วิธีการที่สามารถป้องกันการกัดกร่อนภายใต้ชั้นเคลือบมีดังนี้
1. เก็บชิ้นงานที่ผ่านการเคลือบผิวไว้ภายใต้สภาวะที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 75%
2. ปรับปรุงคุณภาพของชั้นเคลือบเพื่อลดรูพรุนและรอยแตก เช่นวัสดุที่มีความเหนียว
3. เตรียมผิวก่อนการเคลือบให้ได้คุณภาพ
4. ชั้นเคลือบควรมีการยึดเกาะกับโลหะพื้นที่ดี
5. ทำการเคลือบทับหลายชั้น (Multiple coating)
6. เลือกใช้วัสดุเคลือบผิวที่ยินยอมให้ความชื้นซึมผ่านได้น้อย

เอกสารอ้างอิง:

1. N. Birbilis, B. Hinton. Corrosion and corrosion protection of aluminium. Metals and Surface Engineering 2011, P. 574–604.
2. G.M. Scamans, N. Birbilis, R.G. Buchheit. Corrosion of Aluminum and its Alloys. Shreir's Corrosion 2010; 3: P. 1974–2010.
3. R.G. Buchheit. Corrosion Resistant Coatings and Paints. Handbook of Environmental Degradation of Materials (Second Edition) 2012, P. 539–568.
4. A. Nazarov, A.-P. Romano, M. Fedel, F. Deflorian, D. Thierry, M.-G. Olivier. Filiform corrosion of electrocoated aluminium alloy: Role of surface pretreatment. Corrosion Science 2012; 65: 187–198.
5. T.M. Watson, A.J. Coleman, G. Williams, H.N. McMurray. The effect of oxygen partial pressure on the filiform corrosion of organic coated iron. Corrosion Science 2014: 89: 46–58.
6. H.N. McMurray, A. Holder, G. Williams, G.M. Scamans, A.J. Coleman. The kinetics and mechanisms of filiform corrosion on aluminium alloy AA6111. Electrochimica Acta 2010: 55; 7843–7852.
7. G.  Williams, R. Grace. Chloride-induced filiform corrosion of organic-coated magnesium. Electrochimica Acta 2011; 56: 1894–1903.
8. Z. Marsh, J. Marsh, J.D. Scantlebury. Filiform Corrosion of Aluminium Alloy 3003 H14 under Humid and Immersed Conditions. JCSE1999: Volume 2 Paper 36.
9. H. Takahashi, M. Chiba. Role of anodic oxide films in the corrosion of aluminum and its alloys. Corrosion Reviews 2017; 36 (1): 35-54.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การล้างผิวเหล็กกล้าไร้สนิมด้วยกรด (Pickling) และการสร้างฟิล์ม (Passivation)

Image credit: https://www.safefoodfactory.com/en/editorials/54-pickling-and-passivating-stainless-steel/ เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถเกิดการกัดกร่...