การวิเคราะห์ความเสียหายของชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ต้องเริ่มต้นจากประวัติหรือข้อมูลความเป็นมาของชิ้นส่วนที่เสียหายนั้นๆ เช่น ชนิดของวัสดุ ส่วนผสมทางเคมี ข้อกำหนดเฉพาะต่างๆ (Specification) กระบวนการผลิต กระบวนการทางความร้อน ตลอดจนสภาวะการใช้งาน บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องมีแบบ (Drawing) ของชิ้นส่วนที่เสียหายด้วย นอกจากนี้ควรทราบสภาวะแวดล้อมขณะใช้งาน เช่น อุณหภูมิ สิ่งแวดล้อมข้างเคียง ความดัน และลักษณะของแรงที่กระทำ และข้อมูลที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ลักษณะความผิดปกติเบื้องต้นก่อนเกิดความเสียหาย อายุการใช้งาน ตารางการทดสอบ วิธีการตรวจสอบ ข้อมูลเหล่านี้บางครั้งจำเป็นต้องสอบถามจากพนักงานที่ดูแล (Plant Personnel)
ประวัติการใช้งานของชิ้นส่วนเสียหายที่ครบถ้วนสมบูรณ์และถูกต้อง มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์ความเสียหายอย่างมาก ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น และสร้างความมั่นใจในผลการวิเคราะห์ นอกจากนี้ประวัติการซ่อมแซมชิ้นส่วนที่เสียหาย เช่น วัน เดือน ปี ความถี่ สาเหตุของความเสียหาย และวิธีการซ่อมแซมเป็นข้อมูลที่ต้องบันทึกไว้ด้วยเช่นกัน
ในการเก็บข้อมูลที่หน้างานนั้นมีสิ่งที่พึงระวังหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการใช้ปากกาหรือสีในการระบุ (Marking) ตำแหน่งต่างๆ บนชิ้นงาน เพื่อเน้นบริเวณสำคัญระหว่างการถ่ายภาพ การกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสมบัติความต้านทานการกัดกร่อนได้ หรือองค์ประกอบทางเคมีของผลิตภัณฑ์การกัดกร่อนเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นสิ่งที่ผู้ตรวจสอบความเสียหายพึงระวัง คือ ควรรักษาสภาพการกัดกร่อนที่เกิดขึ้นให้มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดก่อนทำการเคลื่อนย้าย หรือก่อนการแยกส่วนประกอบของชิ้นส่วน นอกจากนี้ ควรบันทึกเหตุการณ์ให้เป็นสายโซ่ของเหตุการณ์ (Chain of Events) และถ่ายภาพชิ้นส่วนที่เสียหายเอาไว้ทุกแง่ทุกมุม โดยพยายามถ่ายภาพให้ได้สีที่เป็นจริง (True Color) ซึ่งอาจใช้แผ่นสี (Color Chart) มาประกอบการถ่ายภาพ เนื่องจากสีที่ได้จากการถ่ายภาพ ส่วนหนึ่งมักเปลี่ยนความเข้มและความคมชัดตามปริมาณแสงที่ตกกระทบ ภาพถ่ายตะกรันที่เกิดจากการกัดกร่อนควรแสดงให้เห็นชั้นตะกรันแต่ละชั้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายภาพชิ้นงานในห้องปฏิบัติการ ควรมีการควบคุมปริมาณแสงให้เหมาะสม ก่อนที่จะนำชิ้นส่วนนั้นไปทำการวิเคราะห์ต่อไป
สำหรับการเก็บข้อมูลที่หน้างานนั้น สิ่งที่ต้องจดจำอีกอย่างหนึ่ง คือ บางครั้งผู้ใช้งานจะให้ข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริง โดยเฉพาะข้อมูลที่ทำให้เจ้าของงานเสียผลประโยชน์ ซึ่งมักพบในกรณีที่ต้องการนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนั้นผู้ที่ทำการวิเคราะห์ฯ หรือตัวแทนควรเข้าร่วมการตรวจสอบที่หน้างาน (Onsite Investigation) ด้วยตัวเองดังรูปที่ 1 และพกพาเครื่องมือเมื่อไปตรวจสอบความเสียหายที่หน้างานด้วยดังแสดงในรูปที่ 2
รูปที่ 1 การเดินทางไปตรวจสอบความเสียหายที่หน้างาน ก) ตรวจสอบความเสียหายของไซโลที่เกิดการแตกร้าวบริเวณแนวเชื่อม และ ข) ตรวจสอบความเสียหายของใบพัดกวนที่ต้องตรวจสอบร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานเนื่องจากมีการเสียชีวิตของพนักงานควบคุมเครื่องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
รูปที่ 2 ตัวอย่างเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ควรพกพาเมื่อไปตรวจสอบความเสียหายที่หน้างานได้แก่ ก) กล้องถ่ายรูป ข) เทปวัดระยะ ค) แผ่นสี ง) ดินสอ จ) เครื่องวัดความนำไฟฟ้าของสารละลาย ฉ) ไฟฉาย ช) โทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสอบถามผู้เชี่ยวชาญ และ ซ) คอมพิวเตอร์แบบพกพาเพื่อสืบค้นข้อมูล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น