วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ผิวแตกหักด้วยกลไกการล้าของชิ้นส่วนยานยนต์ (Fatigue fracture surface of engine part)


ชิ้นส่วนยานยนต์เกิดการแตกหักจากการรับแรงดัดซ้ำกันไปมา ลักษณะของผิวหน้ารอยแตกเป็นแบบเปราะ (brittle fracture) ด้วยกลไกการล้า (fatigue) รอยแตกเกิดขึ้นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดพื้นที่หน้าตัด ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นจุดที่มีความเข้มของความเค้นสูง (high stress concentration) ผิวหน้าแตกในสภาพที่รับมาถูกปกคลุมด้วยสนิม (รูปที่ 1) ซึ่งปิดบังรายละเอียดบนผิวหน้าแตกหัก จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดผิวหน้าแตกก่อนการตรวจสอบด้วยสารละลาย N,N'-Di-n-butylthiourea (3 mL of hydrochloric acid (1.19 specific gravity), 4 mL of 2-butyne-1,4-diol (35% aqueous solution), and 50 mL of deionized water) ซึ่งสารละลายดังกล่าวจะกำจัดเฉพาะผลิตภัณฑ์การกัดกร่อน (สนิม) ที่ปกคลุมผิวหน้าแตกเท่านั้น โดยจะไม่ทำลายหรือกัดผิวหน้าแตกดั้งเดิม จึงทำให้สามารถสังเกตเห็นรายละเอียดบนผิวหน้าแตกได้อย่างชัดเจน

รูปที่ 1

ผิวหน้าแตกหลังจากการทำความสะอาด (ดูรูปที่ 2) แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. จุดเริ่มต้นรอยแตก ซึ่งมีหลายจุด (multiple origins) ลักษณะดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าอาจเกิดจากการได้รับความเค้นสูงหรือไม่ก็บริเวณดังกล่าวเป็นจุดรวมความเค้นสูง (high stress concentration)(1) หรือเกิดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของค่าแรงในระดับสูง (high amplitude loads)(2) ซึ่งต่างจากผิวแตกที่มีจุดเริ่มเพียงจุดเดียว (single origin) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าชิ้นงานมักจะได้รับความเค้นเกินค่าพิกัดที่ระดับต่ำๆ (low overstress) มีจุดความความเค้นเพียงจุดเดียว หรือมีการเปลี่ยนแปลงของค่าแรงในระดับปานกลาง (moderate amplitude loads) ลักษณะดังกล่าวยังสามารถยืนยันได้จากสัดส่วนของพื้นที่ที่แตกหักด้วยกลไกการล้า (fatigue zone) และพื้นที่ที่แตกหักจากการรับแรงเกินพิกัด (overload zone) ซึ่งจะกล่าวในลำดับถัดไป

รูปที่ 2


2. บริเวณที่ได้รับความเสียหายจากการล้าตัว (fatigue zone)  เป็นพื้นที่ที่รอยแตกมีการขยายตัวอย่างช้าๆ เกิดจากการได้รับแรงแบบซ้ำไปซ้ำมาหรือเป็นคาบ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของค่าแรงในระดับปานกลางจะมี fatigue zone มากกว่า overload zone และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของค่าแรงในระดับต่ำจะมี fatigue zone ค่อนข้างมาก ในบางกรณีอาจกินพื้นที่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของผิวหน้าแตก ผิวหน้าแตกที่มี fatigue zone มากมักเป็นการแตกที่รอบสูง (high cycle fatigue) หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นแตกหักจากการได้รับความเค้นเกินค่าพิกัดที่ระดับต่ำๆ (low overstress) และสัมพันธ์กับการแตกหักที่มีจุดเริ่มเพียงจุดเดียว แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของค่าแรงในระดับสูงจะมี fatigue zone น้อยกว่า overload zone ผิวหน้าแตกที่มี fatigue zone น้อยมักเป็นการแตกที่รอบต่ำ (low cycle fatigue) ซึ่งในกรณีตัวอย่างดังกล่าวนี้ผิวหน้าแตกมีสัดส่วน fatigue zone/overload zone ประมาณ 10/90 ดังนั้นการแตกหักดังกล่าวจึงน่าจะเกิดจากการได้รับความเค้นสูงหรือไม่ก็เป็นจุดรวมความเค้น ซึ่งต้องมีการทดสอบสมบัติด้านอื่นๆ ประกอบด้วย ใน fatigue zone นี้แสดงให้เห็นแนวของการขยายตัวของร้าวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของแรงที่มักเรียกกันว่า beach marks ซึ่งมีหลายชื่อที่ใช้แทนคำว่า beach mark ได้แก่ progression mark, clamshell marks, conchoidal marks, stop marks และ arrest marks ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว beach mark สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าดังแสดงในรูปที่ 3 นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตเห็นรอยร้าวทุติยภูมิ (secondary crack) อย่างชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีกระทำค่อนข้างสูง

รูปที่ 3

3. พื้นที่ที่รับแรงเกินพิกัด (overload zone) หรือบริเวณที่เกิดการแตกอย่างรวดเร็ว (fast fracture) คือส่วนของผิวหน้าแตกหักที่เกิดความเสียหายในช่วงสุดท้าย ขนาดของ overload zone จะสัมพันธ์กับขนาดแรงที่มากระทำในช่วงแตกหักขั้นสุดท้าย ซึ่งรายละเอียดได้กว่ามาแล้วในหัวข้อ 2 (fatigue zone)

การป้องกันไม่ให้การแตกแบบล้าในกรณีดังกล่าวอาจดำเนินการโดยการตรวจพินิจด้วยสายตา (visual inspection) ตั้งแต่ก่อนการใช้งาน หลังประกอบและมีการตรวจสอบเป็นระยะในระหว่างใช้งาน นอกจากนี้ถ้าผลวิเคราะห์ชี้ว่าการแตกมาจากความเข้มของความเค้นอาจจะต้องทำการออกแบบใหม่ (redesign) เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของแรงเค้นที่ไม่เข้มข้นเฉพาะจุดและให้มีค่าที่ต่ำกว่าวิกฤติ หรือถ้ามีปัจจัยมาจากแรงกระทำที่เกินพิกัดเป็นหลักก็ต้องพิจารณาปรับลดหรือควบคุมแรงกระทำไม่ให้เกินค่าวิกฤติ

เอกสารอ้างอิง
1. N.W. Sachs. Understanding the Surface Features of Fatigue Fractures: How They Describe the Failure Cause and the Failure History. JFAPBC (2005) 2:11-15.
2. Milella P.P. (2013) Nature and Phenomenology of Fatigue. In: Fatigue and Corrosion in Metals. Springer, Milano.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การกัดกร่อนกับท่อทองแดงแบบรังมด (Ant-nest corrosion)

วันนี้มีเคสจากหน่วยงานขนส่งมวลแห่งหนึ่งแจ้งว่าท่อทองแดงในระบบเครื่องปรับอากาศเกิดการกัดกร่อนแล้วนำมาสู่การรั่วมาปรึกษา ผมจำได้ว่าเคยวิเคราะห...